โรคอ้วนและการมีน้ำหนักตัวมากเป็นปัญหาต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต แต่อาหารอร่อยมักเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงและทำให้อ้วน Junk food หรือ อาหารขยะ เป็นหนึ่งในอาหารที่ผู้คนชื่นชอบและเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคเรื้อรังหลายโรค เพราะเต็มไปด้วยไขมัน น้ำตาล และเครื่องปรุงมากมาย แต่จะดีแค่ไหนถ้าคุณสามารถกินอาหารเหล่านี้ได้ไม่อั้น ไม่อ้วน แถมไม่เสี่ยงโรค

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสได้พัฒนายาที่จะทำให้ไม่อ้วนแม้จะรับประทานอาหารขยะปริมาณมาก โดยยาตัวนี้จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญของร่างกายด้วยการจำกัดแมกนีเซียมไม่ให้เข้าไปในไมโทคอเดรีย (Mitocondria)

ไมโทคอนเดรียเป็นส่วนประกอบภายในเซลล์สิ่งมีชีวิต หนึ่งในหน้าที่ของไมโทคอนเดรียในร่างกายมนุษย์คือการสร้างพลังงานให้กับเซลล์และเผาผลาญพลังงาน

โดยเหตุผลที่นักวิจัยพยายามยับยั้งและจำกัดปริมาณแมกนีเซียมไม่ให้เข้าไปในไมโทคอนเดรียก็เพราะว่าแมกนีเซียมมีคุณสมบัติชะลอการสร้างและเผาผลาญพลังงานของไมโทคอนเดรีย ทำให้ร่างกายเผาผลาญได้ช้าลงหรือเผาผลาญได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการยับยั้งแมกนีเซียมไม่ให้เข้าไปยังไมโทคอนเดรียอาจกระตุ้นให้ไมโทคอนเดรียสร้างและเผาผลาญพลังงานได้มากและเร็วขึ้น

การเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นก็หมายความว่ามีโอกาสที่ร่างกายจะดึงพลังงานจากไขมันและน้ำตาลปริมาณมากที่เรารับประทานเข้าไปจากอาหารมาใช้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไม่เหลือพลังงานที่เกินความต้องการ ลดการเกิดไขมันสะสมภายในร่างกายที่เป็นสาเหตุของน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น และโรคเรื้อรัง

ทีมนักวิจัยได้ทดลองยาชนิดนี้ในหนูทดลอง โดยให้หนูรับประทานอาหารตะวันตก (Western food) หรืออาหารขยะที่ให้พลังงานสูงเป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งหนูทดลองถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับยา และกลุ่มที่ได้รับยา ภายหลังสัปดาห์ที่ 30 ของการทดลอง นักวิจัยพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับยาไม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่หนูกลุ่มแรกกลายเป็นหนูที่เป็นโรคอ้วนไปแล้ว

กลไกที่ยาตัวยานี้ทำกับร่างกายของหนูทดลอง คือ ยาจะเข้าไปกดหรือยับยั้งการทำงานของยีนที่ชื่อ MRS2 ซึ่งเป็นยีนที่กำหนดให้แมกนีเซียมเข้าไปที่ไมโทคอนเดรีย โดยนักวิจัยได้ตรวจสอบการทำงานของตับของหนูที่ได้รับยาแล้วพบว่ายังสามารถทำงานได้เป็นปกติ

นอกจากการป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่มและโรคอ้วนแล้ว หนึ่งในทีมนักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า ยานี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งตับจากภาวะไขมันพอกตับที่เป็นผลมาจากอาหารไขมันสูงด้วย

ณ ตอนนี้ยานี้ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และหวังว่าจะได้ทดสอบในมนุษย์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นการพลิกโฉมการรักษาและป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับอาหารพลังงานสูง หรืออาจถูกพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลรูปร่าง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ยานี้ยังคงอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ และยังไม่มีการรายงานผลข้างเคียงในด้านอื่น ๆ และผลข้างเคียงในระยะยาว ใครที่เป็นสายกินอาจต้องยับยั้งชั่งใจในการรับประทานเพื่อป้องกันการได้รับพลังงานที่มากเกินความจำเป็น

ที่มา: Dailymail

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส