พฤติกรรมเสพติดของผู้ใช้โซเชียลมีเดียอาจแตกต่างกันไป แต่อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้มากที่สุด และมักจะทำให้ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียขาดความพอดีในการใช้ชีวิต คือ มีความรู้สึกเครียด หรือมีความวิตกกังวลเมื่อเห็นความสำเร็จ ทรัพย์สมบัติ หรือความสุขของผู้อื่น สิ่งนี้จะนำไปสู่การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเลียนแบบความสำเร็จ หรืออยากได้อย่างมีสิ่งของตามผู้อื่น และถ้าสิ่งของเหล่านั้นมีราคาสูงเกินกว่าที่จะซื้อไหว หรือคุณรู้สึกยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าผู้อื่น ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกไม่คู่ควร มีความนับถือตนเองต่ำ และมีความยากลำบากในการยอมรับตนเอง ซึ่งสิ่งนี้สามารถสร้างผลกระทบทางจิตได้อย่างมาก
ผลกระทบของการเสพติดโซเชียล ร้ายกว่าที่คิด
ผลของการเสพติดโซเชียลมีเดีย และทำให้เกิดความรู้สึกอยากได้อยากมี มีความรู้สึกอิจฉาในความสำเร็จของผู้อื่น เป็นการจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่มีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพตนเอง และสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่โดยรวมของคุณได้อย่างมาก โดยเฉพาะ
- ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น: การที่คุณได้สัมผัสกับชีวิตของผู้อื่นในสื่อโซเชียลมีเดียคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เป็นเรื่องราวที่ผ่านการคัดสรรกลั่นกรองมาแล้ว ซึ่งภาพความสำเร็จสวยงามที่คุณเห็น อาจจะทำให้คุณนั้นเกิดความเข้าใจผิดเกิดความบิดเบือน เกิดความรู้สึกความกดดันในตนเอง และสิ่งที่คุณเข้าใจนั้นอาจจะขัดต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาก็ได้ แต่การเสพสื่อเหล่านี้มากเกินไป ก็ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นไปก่อนแล้ว
- ความนับถือตนเองลดลง: การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น จะนำไปสู่การลดคุณค่าในตนเองและมองตนเองในแง่ลบ ทำให้ลดความมั่นใจในตัวเอง และอาจจะทำให้เกิดการโทษตัวเองตามมา
- ความกลัวที่จะพลาดโอกาส (FOMO): การเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ อาจทำให้คุณเกิดความกลัวที่จะพลาดประสบการณ์หรือข่าวใหม่ ๆ ที่ทำเหตุการณ์ และอาจนำไปสู่การเช็กอย่างต่อเนื่อง
- การจัดการเวลาที่ไม่มีคุณภาพ: การใช้เวลามากเกินไปกับโซเชียลมีเดีย สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ ได้
สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดความอิจฉา หรือทำให้เกิดความนับถือในตัวเองต่ำ ได้อย่างไร?
จากข้อมูลของ Afridi พบว่า อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย ทำให้เราเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น และรับรู้ถึงสิ่งที่คนอื่นกำลังทำได้แบบ Real Time และสิ่งนี้สามารถนำไปสู่พฤติกรรมเปรียบเทียบได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการฟูมฟักความอิจฉาได้อีกด้วย
การวิจัยพบว่าในบางคน ความรู้สึกอิจฉา อยากได้อยากมี รู้สึกด้อยค่าในตัวเองเพิ่มขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งก่อนที่จะมีสื่อสังคมออนไลน์ มนุษย์เราก็มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับวงสังคมใกล้เคียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนบ้าน เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่น ๆ ที่เรารู้จัก แต่ตอนนี้เราไม่ได้แค่เปรียบเทียบตัวเรากับคนที่เรารู้จักจริง ๆ เท่านั้น แต่ในสื่อโซเชียลมีเดีย การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ นั้นไม่มีขอบเขต และเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์ในแง่ลบ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมากขึ้นกว่าเดิม
ความรู้สึกอิจฉาริษยา มักมาพร้อมกับความรู้สึกไม่มั่นคงลึก ๆ ความนับถือตนเองต่ำ และความกลัวที่จะถูกทอดทิ้ง อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน
ความอยากได้ อยากมี ในโซเชียลมีเดียคืออะไร?
ความอิจฉา คือ ความปรารถนาอันเจ็บปวดในการที่อยากได้ในสิ่งที่คนอื่นมี โดยที่ตนไม่มี หรือมีได้อยาก ผู้คนมักจะแสดงภาพลักษณ์ของการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โพสต์ความสำเร็จ โพสต์การซื้อสิ่งของใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่หลาย ๆ คนจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความอิจฉาริษยา และความไม่พอใจ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าความอิจฉาริษยาทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีการศึกษามากมายที่พบว่าความรู้สึกนี้เชื่อมโยงกับอาการของภาวะซึมเศร้า
วิธีแก้ไข หันกลับมาเติมใจให้เป็นสุข
ถ้าในวันนี้คุณกำลังรู้สึกวิตกกังวล ทุกข์ใจ รู้สึกตัวเองดีไม่พอ รู้สึกหดหู่จากการเห็นภาพความสำเร็จของคนอื่นในสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีเท่ากับเขา ขอให้ “หยุด” ก่อน เพราะคุณต้องจำไว้ว่า ผู้คนมักจะโพสต์เฉพาะเรื่องราวที่ดีที่สุดของตนเองบนโซเชียลมีเดีย และซ่อนความทุกข์ และความกังวลบางอย่างในชีวิตเอาไว้เช่นกัน ชีวิตประจำวันของพวกเขาคล้ายกับคุณมากกว่าที่คิด
ปลูกฝังความรู้สึก “ขอบคุณ” ในสิ่งที่คุณมี
เมื่อคุณเข้าสู่ภาวะแห่งการเปรียบเทียบที่ไม่มีที่สิ้นสุด คุณมักจะลืมสิ่งที่คุณมีและนำใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณไม่มี ยิ่งคุณหมกมุ่นกับ ความอยากได้ อยากมีมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งลืมสิ่งดี ๆ ของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น และคุณสามารถเริ่มเปลี่ยนกรอบความคิดนี้ได้โดยการจดบันทึกสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ
คุณสามารถเริ่มต้นด้วยการจดสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณในทุกเช้า ก่อนเริ่มกิจวัตรประจำวัน และไม่ต้องใช้เวลาเยอะเลยเพียงแค่วันละ 3 – 5 นาทีเท่านั้นเอง ผู้ที่จดบันทึกความรู้สึกขอบคุณเป็นประจำ จะเป็นการปรับ Mind Set ปรับความรู้สึกโฟกัสไปที่สิ่งดี ๆ และจะทำให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีความวิตกกังวลน้อยลง และหันกลับมาขอบคุณสิ่งดี ๆ หันมาให้ความเคารพตัวเองมากขึ้น และการศึกษาจำนวนมากยังพบว่าการปลูกฝังทัศนคติแบบนี้ ยังลดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย
และสุดท้าย อย่าลืมทำ Social media detox ซึ่งเป็นการพักใจ พักสมอง พักสายตา ไปโฟกัสกับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตบ้าง เช่นห คุณอาจจะหยุดเข้าโซเชียลมีเดียทุกวันเสาร์ กำหนดช่วงเวลาเข้าโซเชียลมีเดียแค่วันละ 30 นาทีเท่านั้น หรือในทุกวันจันทร์คุณจะไม่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเลย ซึ่งจะทำให้คุณหันไปโฟกัสกับสิ่งดี ๆ หรือโฟกัสกับชีวิตความเป็นจริงมากขึ้น เราเชื่อว่าคุณจะได้เห็นชีวิตคนในมุมมองที่กว้างขึ้นมีความเข้าใจในชีวิตกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยยกระดับจิตใจของคุณให้ดีขึ้น ลดความวิตกกังวลลดความรู้สึกเป็นทุกข์ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส