“โรคมโน” ที่เราจะนำมาให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันนี้ มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ คือ “Overactive Imagination” แน่นอนว่าหนึ่งในคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนมีก็คือ การมีความหวัง การมีความฝัน การมีจินตนาการถึงภาพชีวิตที่สวยงาม หรือการมีชีวิตตามต้องการสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่าสิ่งใดที่มากจนเกินไป สิ่งนั้นสามารถย้อนกลับมาทำร้ายคุณได้เสมอ และโรคมโนอาจกลายเป็นเรื่องอันตรายได้ เมื่อสิ่งนี้เริ่มรบกวนชีวิตประจำวันและก่อให้เกิดความทุกข์อย่างแสนสาหัส 

ทำความรู้จักกับ บุคลิกภาพแบบ Fantasy prone personality

FPP ถือเป็นลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติ ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1980 จากการวิจัยของ Josephine Hilgard ซึ่งสังเกตจากผู้คนที่ได้รับการสะกดจิต นักวิจัยพบว่าผู้ที่ถูกสะกดจิตได้ง่ายมักจะเป็นผู้ที่มีจินตนาการที่กว้างไกล และคงอยู่กับภาพจินตนาการนั้นได้อย่างยาวนาน และงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าคนที่มีภาวะ Overactive Imagination ไม่สามารถแยกแยะจินตนาการและความทรงจำจริง ๆ ออกจากกันได้ นำภาพจินตนาการและภาพแห่งความเป็นจริง นำมาผสมรวมกัน และเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิต 

อาการของโรคมโน

ผู้ที่มีภาวะ Overactive Imagination หรือมีบุคลิกภาพแบบ Fantasy prone personality มักจะมีการแสดงอาการ ดังนี้

  • ใช้เวลาจำนวนมากไปกับการมโนเรื่องราวที่มีรายละเอียดมาก มีความซับซ้อน 
  • มีการจินตนาการเรื่องราวเป็นฉาก ๆ ราวกับเนื้อหาภาพยนตร์
  • มีความยากลำบากในการควบคุมความปรารถนา ที่มาจากการเพ้อฝัน
  • มีความละอายใจ และมีความพยายามที่จะเก็บพฤติกรรมนี้ไว้ไม่ให้ผู้อื่นเห็น
  • มีปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างจินตนาการและความเป็นจริง
  • ในบางจังหวะของการใช้ชีวิต มีความรู้สึกและทำตัวเหมือนเป็นอีกคนหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง 
  • ไม่เคยรู้สึกเบื่อ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เมื่อรู้สึกเบื่อก็จะเข้าสู่โหมดจินตนาการทันที
  • พบเห็นภาพหลอนสิ่งที่ไม่มีจริง 

อาการเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมาได้ หรือมีภาวะทางด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ อยู่แล้ว จนทำให้เกิดโรคมโนขึ้นมา เช่น โรคหลายบุคลิกภาพ (DID) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เป็นต้น และนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า การเพ้อฝันหรือมีการมโนเป็นเวลานานเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสพติดทางพฤติกรรม

แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิธีการจัดหมวดหมู่การฝันกลางวันที่ไม่เหมาะสมและ FPP แต่ก็จริงที่สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพและผลที่ตามมาในชีวิตประจำวัน เช่น:

ปัจจัยที่ทำให้เกิด ภาวะ Overactive Imagination

  • ต้องการหลีกหนีความรับผิดชอบบางอย่าง
  • ต้องการตัดขาดจากกิจกรรมทางสังคม 
  • ไม่สามารถควบคุมจินตนาการได้ แม้ว่าชีวิตยังมีเรื่องอื่น ๆ ให้โฟกัสมากมายก็ตาม 
  • นำตัวเองเข้าสู่โหมดมโน เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ 
  • พบสถานการณ์หรือปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากสังคมในที่ทำงาน หรือปัญหาที่เกิดจากสังคมในที่โรงเรียน 

แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุของภาวะ Overactive Imagination แต่นักวิจัยจำนวนมาก ก็ได้พยายามให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีแนวโน้มมีภาวะ Overactive Imagination จะมีความรู้สึกโดดเดี่ยวมาเป็นเวลานาน หรือเคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการสร้างจินตนาการขึ้นมาเพื่อหลบลึกความเจ็บปวดในโลกแห่งความเป็นจริง และเข้าไปมีความสุขในสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นมา จากจินตนาการ และมักมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย 

  • อาการ dissociative โรคหลายบุคลิก 
  • มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ  
  • ระดับเซโรโทนินผิดปกติ
  • ประสาทหลอน
  • มีความรู้สึกไวต่ออารมณ์ด้านลบ

หรือภาวะ Overactive Imagination อาจมาพร้อมกับอาการทางจิตอื่น ๆ ดังนี้ 

  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรควิตกกังวล 
  • โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)
  • โรคสมาธิสั้น (ADHD)
  • โรคอารมณ์ 2 ขั้ว

วิธีแก้ไขและดูแลตัวเองจากการมีภาวะ บุคลิกภาพแบบ Fantasy prone personality

ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวคุณเอง หรือแม้แต่คนรอบตัวเข้าข่ายที่จะมีภาวะเช่นนี้ เราก็มีวิธีแก้ไขและวิธีเยียวยาตนเองในเบื้องต้นมาฝาก 

  • ทำความรู้จักกับ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น: สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ว่าอะไรทำให้คุณหลีกหนีจากความเป็นจริง และหลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการของคุณ จดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่คุณจะเริ่มใช้จินตนาการมากเกินไป และพยายามนำตัวเองออกจากสิ่งเร้าเหล่านั้น 
  • หางานอดิเรกทำ: เมื่อคุณใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรกที่คุณชอบ จะทำให้คุณมีเวลาลง ในการใช้เวลาไปกับการจินตนาการ 
  • วางแผนกิจกรรมที่ทำให้คุณไม่ว่าง: การทำกิจกรรมใน 1 วันนี้ สามารถเป็นกิจกรรมที่แตกต่างกันได้ เช่น ตื่นแต่เช้าเพื่อออกกำลังกาย และออกไปทำงาน เลิกงานก็อาจจะกลับมาทำอาหารทานเอง หรือออกกำลังกายอีกรอบ หรืออาจจะใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่คุณชื่นชอบ วางแผนกิจกรรมที่รัดกุมในทุกๆ วัน จนทำให้คุณไม่มีเวลาว่างตั้งแต่เช้ายันนอน  
  • สติ: พยายามเจริญสติเพื่อจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น 

และถ้าคุณสังเกตเห็นว่าคนรอบตัวคุณอาจกำลังมีอาการนี้อยู่ ให้คุณพยายามทำความเข้าใจกับภาวะที่เกิดขึ้นกับเขาให้มาก และพยายามเข้าใจว่าโดยพื้นฐานแล้วไม่มีมนุษย์คนไหนที่อยากเกิดมาแล้วไม่มีความสุข ไม่มีใครที่อยากเกิดมาแล้วไม่ปกติ ดังนั้นคุณอาจจะให้คำแนะนำเขา รับฟังเขา นำทางไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง

โดยในกรณีที่มีอาการมากจนเกินไป ก็อาจจะแนะนำให้เข้ารับการรักษาจากคุณหมอจิตแพทย์ และในกรณีที่เขาเล่าเรื่องราวเกินจินตนาการมา ก็ให้รับฟังแต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อ และพยายามหาทางช่วยเหลือรักษาบุคคลที่กำลังตกอยู่ในภาวะเหล่านี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส