อาการตะคริวที่ขาตอนกลางคืน สร้างความทรมานให้กับหลาย ๆ คน เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดแล้ว ยังรบกวนเวลานอนหลับพักผ่อนอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นผลมาจากกล้ามเนื้ออ่อนล้า และปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท ซึ่งความเสี่ยงของการเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ที่สำคัญคนท้องมีแนวโน้มเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืนได้เช่นกัน

ตะคริวที่ขาคืออะไร ?

ตะคริวที่ขาเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง โดยมักจะเป็นที่น่อง เท้า หรือต้นขา อาจทำให้ขาของคุณกระตุก เกร็งจนควบคุมไม่ได้ แม้ว่าจะสร้างเจ็บปวดในการใช้ชีวิต แต่โดยทั่วไปแล้วการเป็นตะคริวที่ขานั้นไม่เป็นอันตราย ซึ่งอาการจะคงอยู่เป็นเวลาหลายวินาทีจนถึงหลายนาที

ยิ่งคุณอายุมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสเป็นตะคริวที่ขามากขึ้นเท่านั้น เพราะเส้นเอ็นของคุณ หรือเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อกับกระดูกจะสั้นลงตามธรรมชาติเมื่อคุณอายุมากขึ้น ผู้ใหญ่มากถึง 60% เป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืน ในขณะที่เด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยง 40%

ตะคริวที่ขาตอนกลางคืน

ตะคริวที่ขาในตอนกลางคืนเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือเมื่อคุณหลับ อาการนี้อาจปลุกคุณ ทำให้คุณหลับยากขึ้น และทำให้คุณรู้สึกปวดเมื่อยตลอดทั้งคืน โดยความถี่ของตะคริวที่ขาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ตะคริวที่ขาตอนกลางคืน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย แต่มักเกิดกับผู้สูงอายุมากที่สุด ในบรรดาผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 33% จะเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืนอย่างน้อยทุก ๆ 2 เดือน และผู้คนประมาณ 40% จะเป็นตะคริวที่ขาในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์เชื่อว่าเป็นเพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ทำให้กล้ามเนื้อตึงนั่นเอง

โดยตะคริวที่ขาจะให้ความรู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อบีบรัดแน่นจนเป็นปม อาจทำให้อึดอัด เจ็บปวดจนทนแทบไม่ได้ โดยกล้ามเนื้อของคุณในบริเวณนั้นอาจเจ็บเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากที่ตะคริวหายไป

ตะคริวที่ขาเกิดจากอะไร ?

ตะคริวที่ขาบางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนสาเหตุที่เป็นไปได้ มีดังนี้ 

  • เส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อขาบางส่วนได้รับเลือดไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • การออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงมากเกินไป

ส่วนสาเหตุของตะคริวที่ขาตอนกลางคืนมักมีสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การนั่งทำงานเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานบนโต๊ะทำงาน
  • ใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป
  • ยืนหรือทำงานบนพื้นคอนกรีต
  • มีท่าทางที่ไม่ดีในระหว่างวัน
  • ไตวาย เบาหวานทำลายเส้นประสาท ขาดเกลือแร่ และปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด

ขณะเดียวกันยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดตะคริวที่ขาได้เช่นกัน ควรปรึกษาแพทย์หากคุณพบว่าตัวเองมีอาการตะคริวที่ขาบ่อย ๆ หลังจากรับประทานยารักษาโรคเข้าไป

ตะคริวที่ขาสัญญาณของโรคร้าย ?

บางครั้งตะคริวที่ขาเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ แต่ในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณหรืออาการของภาวะสุขภาพได้แก่

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว: หัวใจของคุณไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ดีพอที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามปกติ
  • โรคตับแข็ง: เกิดจากแผลเป็นที่ตับ
  • โรคเบาหวาน: เป็นโรคที่ทำให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานจากอาหารที่กินอย่างเหมาะสม
  • เท้าแบน: ไม่มีส่วนโค้งรองรับเท้า
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ: ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ไตวาย: ภาวะที่ไตข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างทำงานไม่ถูกต้อง
  • โรคข้อเข่าเสื่อม: การกัดกร่อนของกระดูกอ่อน
  • โรคพาร์กินสัน: ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวทางระบบประสาท
  • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย: การตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ขาหรือแขน
  • โรคปลายประสาทอักเสบ: กลุ่มโรคของเส้นประสาทที่อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมถึงตะคริว

วิธีรักษาอาการตะคริวที่ขา

หากเป็นตะคริวที่ขาไม่ว่าจะเป็นหลังออกกำลังกายเสร็จ หรือเป็นตะคริวตอนกลางคืน ไม่มีวิธีใดที่จะรักษาอาการตะคริวให้หายได้ในทันที อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดของตะคริวที่ขาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ยืดเหยียด: เหยียดขาให้ตรงแล้วงอดึงปลายเท้าเข้าหาหน้าแข้งเพื่อยืดกล้ามเนื้อ ยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวและถูเบา ๆ และสำหรับตะคริวที่ต้นขาให้ลองดึงเท้าที่ขาข้างนั้นขึ้นไปทางบั้นท้าย โดยจับเก้าอี้ไว้เพื่อทรงตัวไม่ให้ล้ม
  • การนวด: ใช้มือหรือลูกกลิ้งนวดกล้ามเนื้อ
  • ยืน: ลุกขึ้นยืน และกดเท้าของคุณกับพื้น
  • เดิน: กระดิกขาเรื่อย ๆ ขณะเดินไปมา
  • ใช้ความร้อน: ใช้แผ่นความร้อนหรืออาบน้ำอุ่น
  • ประคบเย็น: ห่อถุงน้ำแข็งแล้วประคบบริเวณนั้น
  • ทานยาแก้ปวด: ทานไอบูโพรเฟนเพื่อช่วยระงับอาการปวด
  • ยกสูง: ยกขาขึ้นหลังจากอาการตะคริวเริ่มรู้สึกดีขึ้น

วิธีป้องกันตะคริวที่ขา

การป้องกันตะคริวที่ขาจำเป็นต้องทำทุกวันให้กลายเป็นกิจวัตร โดยคุณสามารถใช้วิธี ดังต่อไปนี้ 

  • ออกกำลังกาย: ออกกำลังกายขาในระหว่างวัน หรือปั่นจักรยานก่อนนอน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ: ดื่มน้ำเยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ยาและวิตามิน: รับประทานวิตามินและยาทั้งหมด รวมถึงยาคลายกล้ามเนื้อตามที่แพทย์สั่ง
  • เตรียมพื้นที่นอนให้พร้อม: วางแผ่นความร้อนและลูกกลิ้งนวดไว้ข้างเตียง
  • รองเท้า: ซื้อรองเท้าที่รองรับลักษณะเท้าของตัวเอง
  • ท่านอน: ทดลองนอนท่าต่าง ๆ เพื่อดูว่าท่าไหนช่วยลดปัญหาตะคริวที่ขาของคุณได้ 
  • ยืดเหยียด: ยืดขาก่อนและหลังออกกำลังกาย รวมถึงก่อนเข้านอน

ตะคริวที่ขาอาจคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ และน่ารำคาญใจเหลือเกิน เพราะส่งผลต่อการนอนหลับ กิจวัตรการออกกำลังกาย และคุณภาพชีวิตโดยรวม โชคดีที่ตะคริวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่หากคุณกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงของตะคริวที่ขา หรือคิดว่าอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

ที่มา mayoclinic , my.clevelandclinic , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส