Xenotransplantation คือ การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน ซึ่งเป็นแนวคิดทางการแพทย์ที่มีมานาน โดยเมื่อปี 2021 ทีมแพทย์และนักวิจัยสหรัฐอเมริกาได้ปลูกถ่ายไตของหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้กับผู้ป่วยหญิงที่มีอาการสมองตายได้สำเร็จ
ผู้ที่ต้องการการปลูกถ่ายไตมักเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ส่งผลให้ไตทำงานบกพร่องหรือไม่สามารถทำงานได้เลย เดิมทีไตทำหน้าที่ในการกรองของเสีย สารพิษ และผลิตปัสสาวะเพื่อนำของเสียเหล่านี้ออกจากร่างกาย
งานวิจัยที่ตีพิมพ์บน JAMA Surgery โดยทีมนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ Birmingham Heersink มหาวิทยาแอลาบามา พบว่าไตของหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมไม่เพียงแต่ช่วยในการสร้างปัสสาวะเพื่อขับของเสียของจากการร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยกรองของเสียอื่น ๆ และช่วยให้ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายมีชีวิตต่อไปได้ด้วย
โดยปกติแล้ว การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง อย่างการปลูกถ่ายไตมนุษย์ไปยังมนุษย์อีกคนยังจำเป็นต้องดูความเข้ากันได้ของร่างกาย การต่อต้านเนื้อเยื่อ และการใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันร่างกายผู้รับอวัยวะต่อต้านเนื้อเยื่อใหม่
การได้รู้ข้อมูลว่าไตของสัตว์อย่างหมูมีโอกาสเข้ากันได้กับร่างกายของมนุษย์และอาจทำงานแทนไตของมนุษย์ได้จึงเป็นการเข้าใกล้ความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ต้องการปลูกถ่ายไต เพราะปัจจุบันในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในไทยก็มีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายไตเป็นจำนวนไม่น้อย และการที่จะหาไตจากผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้ก็เป็นเรื่องยาก
ครีเอตินิน (Creatinine) เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อของมนุษย์หลังการใช้พลังงาน ซึ่งไตมีหน้าที่ในการกรองครีเอตินินออกจากเลือด และขับออกจากร่างกาย ระดับของครีเอตินินในเลือดจึงสามารถบอกได้ว่าไตนั้นทำงานได้ดีหรือไม่ ภายหลังจากการปลูกถ่ายไตของหมูดัดแปลงพันธุกรรมสามารถกรองครีเอตินินออกจากเลือดได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยแอลาบามาได้ปลูกถ่ายไตของหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้ชายวัย 52 ปีที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2 ซึ่งมีค่าครีเอตินินในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน ภายหลังการปลูกถ่ายไตเพียง 24 ชั่วโมง ระดับครีเอตินินในเลือดของชายคนดังกล่าวลดลงครึ่งหนึ่ง และกลับมาสู่ระดับปกติใน 48 ชั่วโมง และคงที่อยู่ในระดับปกติตลอด 7 วันที่ได้ศึกษาวิจัย
ซึ่งการศึกษานี้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ทำให้บรรดาแพทย์และนักวิจัยมีความหวังในการพัฒนาการปลูกถ่ายไตจากหมูสู่มนุษย์ให้สำเร็จ
ในฝั่งนักวิจัยจาก NYU Langone Health ได้ติดตามการผ่าตัดปลูกถ่ายไตของหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมสู่ร่างกายของ มัวริซ มิลเลอร์ (Muarice Miller) ชายที่มีภาวะสมองตาย และร่างกายดำรงอยู่ได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 โดยศัลยแพทย์ที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะมาเป็นพันครั้ง อย่างโรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี (Robert Montgomery) ซึ่งในเคสส่วนใหญ่เขาปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์สู่มนุษย์
จากการปลูกถ่ายครั้งก่อนไตของหมูที่ปลูกถ่ายน่าจะทำงานได้เพียง 72 ชั่วโมงและเกิดการต่อต้านเนื้อเยื่อแปลกปลอม ซึ่งเป็นกลไกของร่างกายมนุษย์ แต่จากวันนั้นระยะเวลาได้ผ่านมาเกือบ 2 เดือนที่ร่างกายของ มัวริซ มิลเลอร์ และไตของหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเข้ากันได้
ระยะเวลาที่ร่างกายของผู้ป่วยและไตจากหมูเข้ากันได้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้แพทย์และนักวิจัยมีข้อมูลและเข้าใจการกลไกและปฏิกิริยาของไตจากสัตว์และระบบร่างกายของมนุษย์มากขึ้น
หมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมจะถูกนำยีนจำนวน 4 ยีนที่พบว่ากระตุ้นให้เกิดการต่อต้านเนื้อเยื่อออก และใส่ยีนของมนุษย์จำนวน 6 ยีนเข้าไปเพื่อให้ไตของหมูมีการทำงานคล้ายกับไตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราเห็นความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์รุดหน้าและทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งแพทย์และนักวิจัยยังคงดำเนินการศึกษาเพื่อดูผลลัพธ์ต่อไป แต่การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคดูจะเป็นการแก้ปัญหาและการรับมือกับความเจ็บป่วยได้ดีกว่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส