ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) คือ การที่คนคนหนึ่งไม่สามารถสัมผัสกับความสุขหรือความเพลิดเพลินในชีวิตประจำวันได้ อาจรู้สึกมึนงงหรือสนใจในสิ่งที่เคยชอบน้อยลง เป็นอาการทั่วไปของภาวะสุขภาพจิตหลายอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้า ซึ่งการรักษามีไว้เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาสนใจกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น
ภาวะสิ้นยินดีมีกี่ประเภท ?
ภาวะสิ้นยินดีมี 2 ประเภท ดังนี้
- ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม: คุณไม่ต้องการใช้เวลากับผู้อื่น
- ภาวะสิ้นยินดีทางกายภาพ: คุณไม่ชอบความรู้สึกทางร่างกาย การกอดหรือการถูกกอดทำให้คุณรู้สึกว่างเปล่ามากกว่าได้รับความอบอุ่น หรืออาหารโปรดของคุณมีรสชาติจืดชืด แม้แต่เรื่องเพศก็อาจหมดความน่าดึงดูดได้
โดยภาวะสิ้นยินดีทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวแย่ลง เพราะคุณจะไม่ได้รู้สึกถึงความสุข หรือความสนุกสนานใด ๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีแรงจูงใจในการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น คุณอาจปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพราะคุณมองว่าการเข้าสังคมไม่ได้มีประโยชน์อะไร หรือคุณอาจมีความวิตกกังวลทางสังคม เพราะรู้สึกว่าไม่เหมาะกับคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพบปะผู้คนใหม่ ๆ
อาการของภาวะสิ้นยินดี
- ไม่ชอบเข้าสังคม
- ความสุขจากกิจวัตรประจำวันลดลง
- ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวลดน้อยลง
- สนใจงานอดิเรกที่เคยทำก่อนหน้านี้น้อยลง
- เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง
- คุณไม่ตื่นเต้นที่จะออกไปเที่ยวกับเพื่อนอีกต่อไป
- ความต้องการทางเพศลดลง
ภาวะสิ้นยินดีพบมากในใคร ?
โดยส่วนมากภาวะสิ้นยินดีจะพบมากในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น
- โรคซึมเศร้า
- โรคไบโพลาร์
- โรคจิตเภท
- โรคพาร์กินสัน
- โรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ใช้สารเสพติด
ภาวะสิ้นยินดี เกิดจากอะไร ?
มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะสิ้นยินดีอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองในการผลิตหรือตอบสนองผิดปกติต่อสารโดปามีน ซึ่งสารโดปามีนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับ “ความรู้สึกดี” ความผิดปกติในสมองส่วนนี้อาจส่งผลต่อการรับรู้หรือความรู้สึกมีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะสิ้นยินดี ?
แพทย์จะทำการค้นหาอาการของภาวะสิ้นยินดีโดยการถามคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ของคุณ นอกจากนี้ยังอาจทำการตรวจร่างกายเพื่อแยกแยะสภาพร่างกายอื่น ๆ เนื่องจากภาวะสิ้นยินดีสามารถเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อระบุสาเหตุให้แน่ใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณ และอาจรวมถึง การขาดวิตามินดี หรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนไทรอยด์
การรักษาภาวะสิ้นยินดี
แนวทางการรักษาทางการแพทย์ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่าคุณมีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หากคุณเป็นภาวะซึมเศร้า แพทย์ก็จะจ่ายยาต้านซึมเศร้าพร้อมกับการให้คุณดูแลสุขภาพกายของตัวเอง
ขณะเดียวกันแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้คุณบรรเทาอาการภาวะสิ้นยินดีด้วยตัวเอง เช่น อาจแนะนำให้คุณออกกำลังกายเป็นประจำด้วยการเดินเล่นหรือเล่นโยคะ เพราะเมื่อคุณทำกิจกรรมทางกายร่างกายจะหลั่งสารโดปามีนกระตุ้น “ความสุข” ให้สมองของคุณ
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากไม่รักษา
คนที่เป็นภาวะสิ้นยินดีและไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและร่างกายได้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- โรคซึมเศร้า
- การแยกตัวออกจากสังคม
- ความวิตกกังวล
- รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไม่ได้
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง
- ความคิดฆ่าตัวตาย
- พลังงานต่ำ
ภาวะสิ้นยินดี เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถหายไปหรือดีขึ้นได้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต มันไม่สามารถหายไปเอง คุณจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นเมื่อเริ่มการรักษา และสามารถลดความเสี่ยงที่อาการจะเกิดขึ้นซ้ำได้โดยการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่องแม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม
ที่มา my.clevelandclinic , webmd , healthline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส