บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินเรื่องของ “การอกหัก” หลายคนมักพูดว่าพวกเขารู้สึกราวกับ “หัวใจสลาย” แม้จะดูเหมือนเป็นคำเปรียบเปรย แต่อาการหัวใจสลายมีจริง และสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากความเครียดทางอารมณ์หรือทางกายภาพอย่างกะทันหัน
ภาวะหัวใจสลายคืออะไร ?
ภาวะหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy, Takotsubo Cardiomyopathy มีสาเหตุมาจากความเครียดทางร่างกายหรืออารมณ์อย่างกะทันหัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจของคุณอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะทำให้เกิดความเสี่ยงของอาการหัวใจวาย คุณอาจคิดว่าตัวเองกำลังมีอาการหัวใจวายเนื่องจากภาวะหัวใจสลายและหัวใจวาย จะทำให้หายใจถี่และเจ็บหน้าอกเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มอาการภาวะหัวใจสลาย หลอดเลือดหัวใจไม่ได้อุดตันหรือหัวใจไม่ได้ถูกทำลายถาวร มักจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ดังเดิม
ใครเสี่ยงเป็นภาวะหัวใจสลาย ?
ทางการแพทย์ระบุว่าภาวะหัวใจสลาย เกิดขึ้นในประมาณ 2% ของผู้ที่ไปพบแพทย์เนื่องจากสงสัยว่าตัวเองหัวใจวาย อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่าจำนวนเคสที่แท้จริงนั้นสูงกว่าจำนวนที่คาดไว้ เนื่องจากแพทย์มักไม่ตระหนักถึงอาการของภาวะหัวใจสลายมากนัก
ภาวะหัวใจสลายส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 88% ของผู้ป่วยที่ได้รับรายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวโน้มเป็นผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน ช่วงอายุเฉลี่ย 58 – 77 ปี
เป็นไปได้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน ของเพศหญิงช่วยปกป้องหัวใจจากผลร้ายของฮอร์โมนที่ร่างกายปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเครียด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงตามอายุ ผู้หญิงจึงอาจไวต่อผลกระทบของความเครียดอย่างกะทันหันมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการภาวะหัวใจสลาย ?
- เป็นผู้หญิง
- มีอายุมากกว่า 50 ปี
- เคยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- เคยมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น อาการชักหรือโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะหัวใจสลายส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ?
กล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอจะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยากลำบากขึ้น หากหัวใจของคุณสูบฉีดไม่เต็มประสิทธิภาพจะส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งหมด
สาเหตุของภาวะหัวใจสลาย
นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของภาวะหัวใจสลายได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าเหตุการณ์ตึงเครียด เช่น การหย่าร้าง อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือตกงาน อาจทำให้เกิดความเครียดกะทันหันได้ เมื่อคุณตอบสนองต่อความเครียดทางร่างกายหรืออารมณ์ ร่างกายของคุณจะปล่อยฮอร์โมนความเครียดในเลือด เช่น อะดรีนาลีน และนอร์เอพิเนฟริน ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าฮอร์โมนเหล่านี้จะรบกวนการทำงานของหัวใจชั่วคราว
ตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์อย่างกะทันหัน ได้แก่
- ความโศกเศร้าจากการเสียชีวิตของผู้เป็นที่รัก หรือการสูญเสียครั้งใหญ่ เช่น สัตว์เลี้ยง บ้าน รถ เงินทอง เป็นต้น
- ข่าวดี เช่น ถูกลอตเตอรี่
- ข่าวร้าย
- ความกลัวอย่างรุนแรง เช่น การพูดในที่สาธารณะ หรือ การโดนปล้นด้วยการใช้อาวุธ
- ความโกรธสุดขีด
ตัวอย่างของความเครียดทางร่างกายอย่างกะทันหัน ได้แก่
- อาการปวดอย่างรุนแรง
- เหตุการณ์ทางกายภาพที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า
- ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหอบหืด หายใจลำบาก อาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เสียเลือดมาก หรือการผ่าตัด
อาการของภาวะหัวใจสลายมีอะไรบ้าง ?
คุณอาจรู้สึกถึงอาการของภาวะหัวใจสลายภายในไม่กี่นาทีถึงชั่วโมงหลังจากเจอเหตุการณ์เครียด ๆ การปล่อยฮอร์โมนความเครียดจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมึนงงชั่วคราว และทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการหัวใจวายทั่วไป
สัญญาณและอาการของภาวะหัวใจสลาย ได้แก่
- อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหัน
- หายใจถี่
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ใจสั่น
- เป็นลมหมดสติ
ความเครียดในชีวิตประจำวันทำให้เกิดภาวะหัวใจสลายหรือไม่ ?
ความเครียดในชีวิตประจำวันไม่ส่งผลต่อภาวะหัวใจสลาย เพราะส่วนใหญ่ภาวะดังกล่าวจะมาจากเหตุการณ์ตึงเครียดกะทันหัน แต่หากคุณมีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวกบ่อยครั้งเมื่อเผชิญกับความเครียดในแต่ละวัน ให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการนั้น ๆ ต่อไป
โชคดีที่ภาวะหัวใจสลายไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการของมันคล้ายกับอาการหัวใจวาย อย่าพยายามวินิจฉัยตัวเองและคิดว่าตัวเองเป็นภาวะหัวใจสลาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจให้ชัดเจนว่าคุณมีอาการหัวใจวาย หรือเป็นภาวะหัวใจสลาย รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือไม่
ที่มา my.clevelandclinic , mayoclinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส