คุณคิดว่าการเผาศพ 1 ครั้งส่งผลต่อโลกของเราอย่างไร?
การเผาศพ (Cremation) เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อเพื่อส่งผู้ที่จากโลกนี้ไปยังดินแดนที่ดีกว่าตามความเชื่อของหลายวัฒนธรรม แต่การส่งผู้วายชนม์ด้วยวิธีนี้อาจย่นย่ออายุของคนที่ยังอยู่ได้ เพราะการเผาศพ 1 ครั้งสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 243 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการเดินทางด้วยรถยนต์ราว 980 กิโลเมตร เหมือนขับจากจังหวัดเชียงรายมาประจวบคีรีขันธ์
จากข้อมูลในแต่ละปีการเผาศพสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 6.8 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ การเผาศพยังสร้างสารเคมีอื่น ๆ ที่ส่งผลสิ่งแวดล้อมด้วย
ปัจจุบันเราเลยเห็นเทรนด์การจัดการกับร่างผู้เสียชีวิตที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น เพื่อคนที่ไปจะได้จากไปอย่างสบายใจ ส่วนคนอยู่ก็ได้อยู่บนโลกที่มีอายุยืนยาวขึ้นอีกหน่อย และบทความนี้จะไปคุณไปดู 4 ไอเดียในการจัดการกับร่างไร้ลมหายใจที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น
วิธีฝังแบบธรรมชาติ (Green burial)
พิธีศพแบบฝังไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเผา แต่การทำพิธีศพแบบฝังทั่วไปมักใส่ร่างลงไปในโลงที่มีการดีไซน์และตกแต่งด้วยวัตถุดิบมากมายเพื่อความสวยงาม แต่กระบวนการเหล่านี้รบกวนสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน
ปัจจุบันได้มีแนวคิดและลงมือทำไปแล้วกับวิธีฝังแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นการนำร่างไร้วิญญาณห่อด้วยผ้าฝ้าย แล้วใส่ลงไปในกล่องไม้สี่เหลี่ยมที่แสนเรียบง่ายไม่ต่างอะไรจากพิธีศพของผู้คนในอดีต ไม่ได้ประดับประดาด้วยผ้าลูกไม้ย้อมสี แกะสลัก ปิดทอง หรือทาสารเคลือบไม้เพื่อให้ดูเงางาม ด้วยความเรียบง่ายของวัสดุและวิธีการทำให้ร่างและโลงสามารถย่อยสลายง่าย และไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนอันตรายเมื่อย่อยสลาย
เปลี่ยนร่างให้กลายเป็น ‘ปุ๋ยมนุษย์’
Green burial จะทำให้คุณกลายเป็นดินที่มีสารอาหารให้กับธรรมชาติต่อไป แต่วิธี Human Composting จะทำให้คุณเป็นได้มากกว่านั้น ซึ่งก็คือปุ๋ยบำรุงพืชนั่นเอง โดยขั้นตอนในการเปลี่ยนร่างกายให้กลายเป็นปุ๋ยซับซ้อนกว่าการฝังแบบทั่วไป
หลังจากเสร็จพิธีศพแล้ว ร่างของคุณจะถูกห่อด้วยผ้าหรือเศษไม้ แล้วนำไปใส่ในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีการควบคุมเพื่อให้ร่างกายย่อยสลาย เมื่อผ่านไปราว 1 เดือนร่างกายจะถูกย่อยสลายจนเหลือแต่กระดูก ซึ่งกระดูกจะถูกนำออกมาบดให้เป็นผง และใส่กลับเข้าไปในบรรจุภัณฑ์เพื่อย่อยสลายต่อ เมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายจนหมด
สิ่งที่ได้คือก้อนดินขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรที่อัดแน่นไปด้วยสารอาหารและจุลินทรีย์จากร่างกายคุณ ซึ่งก่อนจากโลกนี้ไปคุณสามารถกำหนดได้ว่าก้อนดินจากร่างกายของคุณจะบริโภคจากเพื่อไปเป็นปุ๋ยต้นไม้ที่ไหน หรืออาจส่งกลับให้ครอบครัวเพื่อนำปลูกต้นไม้ ที่ชวนให้คิดถึงคุณทุกครั้ง เมื่อมองไปที่ต้นไม้ต้นนั้น
ใช้โลงศพเห็ด
เดิมทีโลงศพที่ทำจากไม้นั้นยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปีแม้ร่างกายเราย่อยสลายไป โลงศพเห็ด (Mushroom coffin) หรือในอีกชื่อ Living coffin เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำโลงศพจากไม้มาเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่เป็นพิษต่อธรรมชาติ
เห็ดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ของสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยสลายได้ โดย Loop Biotech สตาร์ตอัปนั้นได้คิดค้น ‘โลงศพเห็ด’ โดยนำเห็ดมาใช้เป็นวัสดุในการทำโลงศพและเชื่อมด้วยเส้นใยของต้นกัญชงเพื่อคงรูป ซึ่งโลงศพเห็ดสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 45 วันเท่านั้น และด้วยส่วนประกอบที่มาจากธรรมชาติหมดจึงทำให้ไม่เกิดการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เชื้อรายังสามารถเปลี่ยนเนื้อเยื่อของร่างกายเราให้กลายเป็นแร่ธาตุในดินเพื่อเป็นสารอาหารให้กับต้นไม้ได้ด้วย
เผาศพด้วยน้ำ
Aquamation หรือ Water Cremation เป็นรูปแบบการจัดการกับร่างที่ไม่มีลมหายใจด้วยการใช้น้ำที่อยู่ในรูปของสารละลายที่มีโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide) ที่มีอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ด้วยการนำร่างกายใส่เข้าไปในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายกับแทงก์น้ำ และปล่อยสารละลายเข้าไป
เมื่อจบขั้นตอนน้ำเหล่านั้นจะถูกล้างออก เหลือแต่กระดูก ซึ่งจะถูกนำไปบดกลายเป็นเถ้า และส่งคืนให้กับครอบครัว การเผาศพด้วยน้ำมีการใช้มาหลายปีแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนเหล่านี้ยังไม่มีในไทย แต่เอาเป็นว่าแนวคิดเรื่องการจัดการกับศพโดยที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงาน และหลายคนกำลังร่วมกันผลักดัน ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่คุณสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีอื่นได้
ความตายเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกหนีไม่พ้น แต่การเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับความตายเป็นสิ่งที่คุณเลือกได้ สารพัดวิธีที่ในการจัดการกับร่างกายที่ไม่มีลมหายใจสามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่มากก็น้อย แต่หากเลือกได้ การเลือกจากไปโดยส่งผลกระทบต่อคนที่มีชีวิตอยู่ต่อไปน้อยที่สุดคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย และคงเป็นอีกเรื่องราวที่คนจะจดจำคุณ และถูกพูดถึงแม้คุณไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม
ที่มา: Reuters, Daily Mail, Snyder Law
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส