ความเครียด ส่งผลต่อเราทุกคนและสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องการเงิน หรือเมื่อต้องรับมือกับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นอย่างที่หวัง หากความเครียดเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและหายไปได้ในเวลาไม่นานก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลอะไร แต่ความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้คุณรู้สึกแย่และทำให้คุณป่วยทั้งทางจิตใจและร่างกายได้

ขั้นตอนแรกในการควบคุมความเครียดคือการรู้อาการของความเครียด แต่การรับรู้อาการความเครียดอาจยากกว่าที่คุณคิด เพราะส่วนใหญ่คนมักคุ้นเคยกับความเครียด และไม่รู้ว่าตัวเองเครียดจนกว่าเราจะถึงจุดแตกหัก

ความเครียดคืออะไร ?

ความเครียดคือปฏิกิริยาของร่างกายต่อสถานการณ์ที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือการรับรู้ก็ตาม เมื่อคุณรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม ปฏิกิริยาทางเคมีจะเกิดขึ้นในร่างกายซึ่งทำให้คุณสามารถดำเนินการเพื่อป้องกันการบาดเจ็บได้ ปฏิกิริยานี้เรียกว่า “สู้หรือหนี” หรือการตอบสนองต่อความเครียด ในระหว่างการตอบสนองต่อความเครียดอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น หายใจเร็วขึ้น กล้ามเนื้อกระชับ และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น 

ความเครียดมีความหมายที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดในคนหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่อีกคนอาจไม่รู้สึกอะไร บางคนสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีกว่าคนอื่น ๆ และไม่ใช่ว่าความเครียดจะเลวร้ายไปเสียทุกอย่าง เพราะในอีกมุมหนึ่งความเครียดสามารถช่วยให้คุณทำงานให้สำเร็จ เพื่อหลีกหนีผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมา 

ร่างกายของเราได้รับการออกแบบมาให้รับมือกับความเครียดเพียงเล็กน้อย แต่เราไม่พร้อมที่จะรับมือกับความเครียดเรื้อรังในระยะยาวโดยไม่มีผลร้ายตามมา

อาการของความเครียด ?

ความเครียดสามารถส่งผลต่อทุกด้านของชีวิต รวมถึงอารมณ์ พฤติกรรม ความสามารถในการคิด และสุขภาพกาย และเนื่องจากคนเราจัดการกับความเครียดต่างกัน อาการของความเครียดจึงอาจแตกต่างกันไป อาการอาจไม่ชัดเจนและอาจเหมือนกับอาการที่เกิดจากสภาวะทางสุขภาพทั่วไป โดยอาการทางอารมณ์ของความเครียด ได้แก่

  • เกิดอารมณ์หงุดหงิด หงุดหงิดง่าย
  • รู้สึกหนักใจ ราวกับว่าคุณกำลังสูญเสียการควบคุมตัวเอง
  • มีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการผ่อนคลายและสงบจิตใจ
  • รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ รู้สึกเหงา ไร้ค่า และหดหู่
  • หลีกเลี่ยงการพบเจอผู้อื่น

อาการทางกายภาพของความเครียด ได้แก่

  • พลังงานต่ำ
  • ปวดหัว
  • ท้องเสีย รวมถึง ท้องผูก และคลื่นไส้
  • ปวดเมื่อย และตึงกล้ามเนื้อ
  • อาการเจ็บหน้าอกและหัวใจเต้นเร็ว
  • นอนไม่หลับ
  • โรคหวัดและการติดเชื้อบ่อยครั้ง
  • ไม่มีความต้องการทางเพศ
  • อาการประหม่าและสั่น หูอื้อ มือและเท้าเย็นหรือมีเหงื่อออก
  • ปากแห้งและกลืนน้ำลายลำบาก
  • กัดฟัน

อาการทางการรับรู้ของความเครียด ได้แก่

  • มีความกังวลอย่างต่อเนื่อง
  • ความคิดตีกันไปหมด
  • การหลงลืม
  • ไม่สามารถโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
  • การตัดสินใจที่ไม่ดี
  • มองโลกในแง่ร้ายหรือมองแต่ด้านลบ

อาการทางพฤติกรรมของความเครียด ได้แก่

  • ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง – ไม่กินหรือกินมากเกินไป
  • การผัดวันประกันพรุ่งและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
  • การใช้แอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือบุหรี่มากขึ้น
  • มีพฤติกรรมประหม่ามากขึ้น เช่น กัดเล็บ อยู่ไม่สุข 

ผลที่ตามมาของความเครียดเรื้อรัง

ความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นครั้งคราวไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ความเครียดเรื้อรังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงหลายอย่าง ได้แก่

1.ระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด

ฮอร์โมนความเครียดส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือดของคุณ ในระหว่างการตอบสนองต่อความเครียดคุณจะหายใจเร็วขึ้นเพื่อกระจายเลือดที่มีออกซิเจนไปยังร่างกายอย่างรวดเร็ว หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง ความเครียดอาจทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น

ภายใต้ความเครียด หัวใจของคุณก็จะเต้นเร็วขึ้นเช่นกัน ฮอร์โมนความเครียดทำให้หลอดเลือดหดตัวและเปลี่ยนเส้นทางออกซิเจนไปยังกล้ามเพื่อให้คุณมีพลังมากขึ้น แต่สิ่งนี้ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นด้วย เป็นผลให้ความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเครียดเรื้อรังจะทำให้หัวใจของคุณทำงานหนักเกินไปเป็นเวลานาน เมื่อความดันโลหิตของคุณเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวายก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

2.ระบบทางเดินอาหาร

ภายใต้ความเครียด ตับจะผลิตน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) ส่วนเกินเพื่อให้คุณมีพลังงานเพิ่มขึ้น หากคุณมีความเครียดเรื้อรัง ร่างกายของคุณอาจไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้นได้ทัน ความเครียดเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2

ฮอร์โมนที่แปรปรวน การหายใจเร็ว และอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ระบบย่อยอาหารของคุณปั่นป่วนได้ คุณมีแนวโน้มที่จะมีอาการเสียดท้องหรือกรดไหลย้อนมากขึ้นเนื่องจากมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ความเครียดยังส่งผลต่อวิธีที่อาหารเคลื่อนผ่านร่างกาย ทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องผูก คุณอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องด้วย

3.ระบบกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อของคุณเกร็งเพื่อป้องกันตัวเองจากการบาดเจ็บเมื่อคุณเครียด พวกมันมักจะคลายตัวอีกครั้งเมื่อคุณผ่อนคลาย แต่หากคุณอยู่ภายใต้ความเครียดตลอดเวลา กล้ามเนื้อของคุณอาจไม่มีโอกาสได้ผ่อนคลาย และเมื่อกล้ามเนื้อตึงจึงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดหลังและไหล่ รวมถึงปวดเมื่อยตามร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งนี้สามารถทำให้เกิดวงจรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 

4.เพศและระบบสืบพันธุ์

ความเครียดทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะสูญเสียความต้องการทางเพศเมื่อคุณมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา 

หากความเครียดยังคงอยู่เป็นเวลานาน ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของผู้ชายก็อาจเริ่มลดลงได้ สิ่งนี้สามารถรบกวนการผลิตอสุจิและทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และความเครียดเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย เช่น ต่อมลูกหมากและอัณฑะ และสำหรับผู้หญิง ความเครียดอาจส่งผลต่อรอบประจำเดือนได้ อาจทำให้เกิดประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น 

  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
  • โรคอ้วนและความผิดปกติในการรับประทานอาหารอื่น ๆ
  • ปัญหาผิวหนังและเส้นผม เช่น สิว โรคสะเก็ดเงิน กลาก และผมร่วงถาวร

วิธีขจัดความเครียด

เป็นเรื่องยากที่จะแนะนำวิธีแก้เครียดให้กับแต่ละคน เนื่องจากความเครียดของแต่ละคนแตกต่างกัน และวิธีบรรเทาความเครียดก็จะแตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและพยายามหาสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือหันไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อน ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย การดูหนัง ฟังเพลง รวมไปถึงการออกไปสังสรรค์ ในขณะที่บางคนอาจจะต้องการอยู่เงียบ ๆ ในห้องและอ่านหนังสือที่ชอบ ก็สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณจะจัดการมันอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันความเครียดที่มากเกินไปจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพตามมา ก็คือการรู้อาการความเครียดของคุณ

หากคุณหรือคนที่คุณรักมีความเครียดมากเกินไป ให้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาการความเครียดหลายอย่างอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน แพทย์จะสามารถประเมินอาการของคุณและแนะแนวทางการรักษาที่ถูกต้องได้

ที่มา webmd , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส