ในที่ทำงาน คุณมักจะเจอเพื่อนร่วมงานหลากหลายวัย และมีทั้งบุคลิกและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แม้ว่าเพื่อนร่วมงานที่คุณเจอจะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นพิษเป็นภัย แต่สำหรับบางคนพฤติกรรมของพวกเขา ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคุณได้อีกด้วย ดังนั้นในวันนี้เราจะมาตีแผ่กับลักษณะนิสัย toxic ของเพื่อนร่วมงานที่คุณอาจจะพบเจอกัน และจะมาแนะนำวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
คุณเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่สามารถหาทางรับมือได้อย่างเหมาะสม
ในสังคมการทำงานทุกที่ ย่อมมีคนที่หลากหลายถ้าคุณไม่พอใจใครจะให้เปลี่ยนงานเป็นทุกครั้งก็คงจะไม่ได้ ดังนั้นมาศึกษาความเป็นพิษของเพื่อนร่วมงานในแต่ละรูปแบบกันดีกว่า และคุณจะได้หาทางรับมือได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้คุณต้องทำใจเอาไว้เลยว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้ แต่คุณสามารถเปลี่ยนทัศนคติและความสนใจของคุณเองในการจัดการกับพวกเขาได้ และสิ่งนี้จะไม่กระทบต่อสุขภาพจิตของคุณใด ๆ ทั้งสิ้น
1. บ่นไม่หยุด โลกรอบตัวไม่มีอะไรดีเลย
ระดับความเป็นพิษ: ปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่เอาแต่บ่น จดจ่ออยู่กับด้านลบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ขวัญกำลังใจตกต่ำ ไม่เคยมีอะไรดีเลย
วิธีจัดการ: ให้คุณนำเสนอวิธีแก้ปัญหา และพยายามเปลี่ยนเส้นทางการสนทนาไปยังหัวข้อที่เป็นบวกมากขึ้น หากความคิดเชิงลบยังคงมีอยู่ หรือเพื่อนร่วมงานของคุณยังไงก็ไม่หยุดบ่น ให้คุณนำตัวเองเฟดออกมา จากการมีส่วนร่วมในการสนทนาเชิงลบนั้น
2. ผู้คุมวิญญาณ
ระดับความเป็นพิษ: ปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่มักจะเฝ้าติดตามและควบคุมงานมากเกินไป ทำให้รู้สึกอึดอัด และไม่มีความเป็นอิสระในการทำงาน
วิธีจัดการ: พยายามสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณกำลังทำงานในส่วนไหนอยู่ ทำงานเสร็จไปถึงไหนแล้ว พยายามนำเสนอรายงานให้กับเพื่อนร่วมงานคนนี้ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่เขาจะได้หมดคำถาม และอาจจะเกิดความไว้วางใจในตัวคุณมากขึ้น
3. Gossip Girl
ระดับความเป็นพิษ: ต่ำถึงปานกลาง
ลักษณะนิสัย: งานไม่ค่อยเดิน แต่เรื่องเมาท์ขอให้บอกว่างเสมอ เพื่อนร่วมงานที่ชอบสร้างเรื่องดราม่าและซุบซิบนินทาแบบไม่มีพัก
วิธีจัดการ: ให้คุณจดจ่อและนำสมาธิไปจับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น และพยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการนินทาผู้อื่น ปลีกตัวออกจากการสนทนาที่เริ่มจะดราม่าอย่างสุภาพ
4. ขโมยเครดิต
ระดับความเป็นพิษ: ปานกลางถึงสูง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่ขโมยเครดิตและไอเดียผลงานของผู้อื่น
วิธีจัดการ: เก็บหลักฐานเอาไว้ให้มากที่สุด บันทึกการมีส่วนร่วมในการทำงานของคุณ และยืนหยัดเพื่อตัวเองให้ชัดเจน อธิบายไปเลยว่าคุณทำงานในส่วนไหนบ้าง โดยเฉพาะกับหัวหน้างาน
5. นักแซะ
ระดับความเป็นพิษ: ปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่ชอบพูดเสียดสีผู้อื่น บูลลี่ หรือพยายามหาทางแซะ เพื่อทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่
วิธีจัดการ: อย่านำใจไปจมอยู่กับพฤติกรรมของคนเหล่านี้เด็ดขาด เพราะความทุกข์ของคุณคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ อย่านำตัวเองไปสุงสิงด้วย พยายามเฟดตัวออกมา ทำพวกเขาเป็นเหมือนอากาศธาตุ หรือถ้าจำเป็นต้องพูดคุยก็พูดคุยเฉพาะในเรื่องงานที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และอย่าเก็บคำพูดของบุคคลเหล่านี้มาใส่ใจอย่างเด็ดขาด
6. มองทุกคนเป็นคู่แข่ง
ระดับความเป็นพิษ: ต่ำถึงปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานคนนี้มองทุกอย่างเป็นการแข่งขัน อยากเอาชนะ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด
วิธีจัดการ: มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ ในการทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม อย่านำตัวเองไปลงแข่งด้วย หรือถ้าเขามองว่าตนเองคือผู้ชนะ นั่นก็คือมุมมองของเขาอย่าไปใส่ใจ
7. ดินพอกหางหมูเรื้อรัง
ระดับความเป็นพิษ: ปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่ทำงานล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อประสิทธิภาพของทีม และส่งผลต่อการทำงาน
วิธีจัดการ: กำหนดเส้นตายที่ชัดเจนสำหรับการทำงานร่วมกัน หากการผัดวันประกันพรุ่งส่งผลกระทบต่องานของคุณ ให้แจ้งเรื่องนี้กับหัวหน้างานหรือผู้จัดการ
8. ละเมิดเรื่องส่วนตัว
ระดับความเป็นพิษ: ต่ำถึงปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่มักไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัว เวลา หรือขอบเขต ของคนอื่น
วิธีจัดการ: พยายามตัดการสื่อสารในช่วงวันหยุด และหลังเลิกงาน ไม่รับ ไม่คุย ไม่แชท เพื่อสร้างขอบเขตของการสื่อสาร และถ้าเพื่อนคนนี้พยายามชักชวนเจาะลึกในเรื่องส่วนตัวที่คุณรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่อยากเล่า ก็ให้พยายามเบี่ยงประเด็นหรือพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าไม่สบายใจที่จะเล่า
9. ศูนย์กลางจักรวาล
ระดับความเป็นพิษ: ต่ำถึงปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่เชื่อว่าตัวเองมีคำตอบทั้งหมด รู้มากที่สุด เก่งที่สุด และไม่ต้องสนใจความคิดของผู้อื่น
วิธีจัดการ: พยายามแบ่งปันข้อมูลและแนวคิดของคุณ ด้วยความเคารพ มีความนอบน้อม ไม่ได้แสดงท่าทีอยากเอาชนะ เพียงแค่อยากส่งเสริมการทำงานที่ดีร่วมกันเท่านั้น
10. ขี้เกียจ
ระดับความเป็นพิษ: ต่ำถึงปานกลาง
ลักษณะนิสัย: เพื่อนร่วมงานที่พยายามหลีกเลี่ยงงาน หรืออยากมีส่วนร่วมในการทำงานให้น้อยที่สุด
วิธีจัดการ: มุ่งเน้นไปที่การทำงาน และสร้างผลงานของคุณเอง หากพฤติกรรมของเขา ส่งผลกระทบต่อภาระงานของคุณ ให้แจ้งกับหัวหน้างานหรือผู้จัดการ
สรุป ในยามที่คุณต้องรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ท้าทาย ให้โฟกัสไปที่การทำงานแบบมืออาชีพ กำหนดขอบเขต และหาทางแก้ไขแทนที่จะเพิ่มความขัดแย้ง อย่าใช้อารมณ์และอย่าเอาตัวลงไปเล่นเด็ดขาด และถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้แจ้งเรื่องต่อหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ร่วมกันหาทางแก้ไข
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส