เคยสังเกตไหม ? บ่อยครั้งที่เวลาเรานั่งทำงานอยู่ เพื่อนบางคนมักบ่นว่าทำไมวันนี้แอร์ออฟฟิศหนาวจัง ในขณะที่เรากลับรู้สึกว่าไม่เห็นหนาวเลย ออกจะร้อนไปนิดเสียด้วยซ้ำ 

หรือแม้แต่บางครั้งเวลาเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน บางคนจะรู้สึกร้อนมากต้องเปิดแอร์อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกอดทนได้ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ที่อุณหภูมิเท่ากัน นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายของคนเรามีการตอบสนองต่ออุณหภูมิที่ต่างกัน บทความนี้จะพาทุกคนมาหาคำตอบว่าเพราะอะไรคนเราถึงรู้สึกหนาวไม่เท่ากัน

ร่างกายเป็นอย่างไรเมื่อเจอกับความหนาวเย็น

เมื่อสมองของเรารับรู้ได้ถึงอุณหภูมิที่ลดลง สมองจะส่งสัญญาณไปยังหลอดเลือดเพื่อจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนัง

โดยผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่ากระบวนการหดตัวของหลอดเลือดนี้จะช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนเพิ่มเติมและปกป้องแกนกลางของร่างกาย และนอกจากการจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนังแล้ว  คนส่วนใหญ่ยังเริ่มมีอาการตัวสั่นอีกด้วย โดยการหดตัวของกล้ามจนเกิดอาการสั่นนี้เป็นการปล่อยความร้อนออกมาเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้คนเราหนาวไม่เท่ากัน

1.รูปร่าง

ขนาดรูปร่างมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือกับความหนาวเย็น และมีความสัมพันธ์กับขนาดของเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังของเรา โดยไขมันจัดเป็นฉนวนกันความหนาวที่ดีเยี่ยม ยิ่งมีไขมันใต้ผิวหนังมากเท่าไร ก็ยิ่งทนกับความหนาวเย็นได้มากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกถ้าหากคุณสังเกตจะเห็นว่าคนเจ้าเนื้อส่วนใหญ่มักจะขี้ร้อน หรือทนต่อความหนาวได้ดีกว่าคนที่มีรูปร่างผอมบาง

2.เพศ

ร่างกายของผู้หญิงมีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย จึงสร้างความร้อนจากรูขุมขนน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงมักรู้สึกหนาวเย็นมากกว่าถึงแม้จะอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิห้องเท่ากันก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยกลางคนอาจรู้สึกร่างกายอบอุ่นกว่าผู้ชาย ไม่ใช่เพราะพวกเธอมีมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางอย่างนั่นเอง

ความผันผวนของฮอร์โมนจะส่งผลต่อความรู้สึกหนาว โดยการตอบสนองต่อความเย็นของผู้หญิงจะแตกต่างกันไปในระหว่างรอบเดือน ในขณะที่ผู้ชายระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สูงขึ้นอาจลดความไวต่อความเย็นได้

3.อายุ

ผู้สูงอายุไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตนเองได้ เนื่องจากเมื่อเราอายุมากขึ้นระบบเผาผลาญของเราก็เริ่มช้าลง เมแทบอลิซึมที่ช้าลงอาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติและต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดตลอดเวลา อีกทั้งการดำเนินชีวิตแบบอยู่ประจำที่ ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายอาจทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน

4.ความเครียด

เมื่อเจอกับเรื่องน่าวิตกกังวล หรือความเครียดจากสิ่งต่าง ๆ แต่ละคนจะมีการตอบสนองทางร่างกายที่ต่างกัน บางคนอาจมีเหงื่อไหลที่มือคล้ายกับอาการของคนที่กำลังตื่นเต้น แต่ขณะเดียวกันบางคนก็อาจรู้สึกหนาวเย็นและตัวสั่นขึ้นมา เป็นเพราะเวลาที่คนเราเครียดร่างกายจะลดประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด ทำให้รู้สึกหนาวเย็นขึ้นมาดื้อ ๆ 

5.เงื่อนไขทางการแพทย์

สภาวะทางการแพทย์บางอย่างอาจส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายของผู้คนด้วย เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ คือการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอที่จะช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายที่สำคัญ เช่น การเผาผลาญ ระดับพลังงาน และอื่น ๆ อาจทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกหนาวขึ้นได้

รวมถึง โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) เป็นภาวะที่ทำให้บางส่วนของร่างกาย เช่น นิ้วเท้า รู้สึกเย็นและชา โดยเฉพาะในอุณหภูมิที่เย็นจัด หรือเนื่องจากความเครียด ในกรณีนี้หลอดเลือดแดงจะเล็กจะแคบลง ซึ่งจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ

ด้วยปัจจัยที่หลากหลายอาจทำให้คุณไม่สามารถแก้ไขสาเหตุที่ทำให้คุณเป็นคนขี้หนาวกว่าคนอื่นได้ แต่สิ่งที่คุณสามารถทำได้นั่นคือ การรู้เท่าทันตัวเองว่าคุณมักจะมีอาการหนาวเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ใด เช่น ออฟฟิศ โรงหนัง และช่วงฤดูหนาว คุณอาจพกเสื้อคลุมหรือเสื้อกันหนาวจนกลายเป็นไอเทมติดตัวที่ขาดไม่ได้ รวมถึงการสวมถุงเท้าก็สามารถช่วยบรรเทาความหนาวได้เช่นกัน

ที่มา indiatimes , medicalnewstoday

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส