เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็นอยด์ เซ็งก็นอยด์ เศร้าก็นอยด์ ซึ่งคำว่า ‘นอยด์’ ที่คนใช้อธิบายความรู้สึกไม่พอใจหรืออารมณ์ทางลบ แต่ในความเป็นจริง นอยด์ไม่ได้หมายความว่าเซ็ง เศร้า หรือน้อยใจ แต่หมายถึงอาการหวาดระแวง หรือ ‘พารานอย’ (Paranoia) ที่เป็นลักษณะอาการทางจิตชนิดหนึ่ง
ส่วนพารานอยด์ (Paranoid) แบบมี ด์ เป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้ขยายสิ่งต่าง ๆ เช่น บุคลิกแบบพารานอยด์หมายถึงบุคลิกแบบหวาดระแวง
พารานอยเป็นอาการทางจิตที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดระแวงต่อสิ่งรอบข้างหรือรู้สึกว่าถูกคุกคามอยู่ตลอดและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น คิดว่ามีคนเข้ามาภายในห้อง รู้สึกถูกจ้องมอง รู้สึกระแวงว่ามีคนดักรอจะทำร้าย ความคิดเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล หรือมีเหตุการณ์แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ทำให้รู้สึกหวาดระแวงได้ อย่างการมีคนเดินตามหลังเพื่อไปทางเดียวกัน หรือการถูกเดินชนในที่สาธารณะ และอาการพารานอยสามารถพัฒนาไปเป็นโรคจิตเภทชนิดอื่นที่รุนแรงขึ้นได้
อาการหวาดระแวงเป็นลักษณะทางจิตที่มีความเฉพาะตัว จึงถูกหยิบใส่ในตัวละครภายในนิยายหรือภาพยนตร์หลายเรื่อง
สัญญาณและพฤติกรรมอาการพารานอย
แม้จะเรียกว่าหวาดระแวง แต่คนที่มีอาการนี้ไม่ได้มีท่าทีสั่นกลัวแบบที่หลายคนคิด แต่มักเป็นการหวาดระแวงในเชิงก้าวร้าวมากกว่า ซึ่งอาการและพฤติกรรมอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรง
- หงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราด โมโหร้าย เจ้าอารมณ์
- ไว้ใจคนยาก แม้แต่คนใกล้ตัว
- เก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิง พูดคุยกับคนอื่น หรือออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
- มองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง คิดว่าคนอื่นคิดร้าย นินทา หรือวางแผนกลั่นแกล้งตัวเอง
- ไม่สามารถให้อภัยคนอื่นได้ ขาดความเห็นอกเห็นใจ
- ไม่สามารถทนต่อความเห็นต่างและคำวิพากษ์วิจารณ์
- คิดว่าตัวเองถูกเสมอ สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นมาจากคนอื่น
- เข้าใจคนอื่นผิด ไม่สามารถตีความคำพูด หรือท่าทางของคนอื่นได้อย่างถูกต้อง
ด้วยอาการหวาดแวงผิดปกตินี้ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะพูดคุยหรือเข้าสังคมกับใครเลย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และตัดขาดจากสังคม ปัจจัยด้านสังคมส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหงา เศร้า ร่วมกับความเครียดที่มาจากความรู้สึกหวาดระแวงส่งผลให้อาการทางจิต สมอง และอารมณ์นั้นรุนแรงมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้เกิดโรคหรืออาการทางจิตอื่น ๆ ตามมา
รู้ตัวว่าหวาดระแวง แต่ทำอะไรไม่ได้
คนที่มีอาการทางจิตบางคนสามารถตระหนักรู้ได้ในบางครั้งว่าอาการหรือความคิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดปกติ ทั้งอาจมองว่ามาจากโรค หรือไม่ใช่พฤติกรรมที่แท้จริงของตัวเอง แต่ไม่สามารถห้ามความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเองได้ ส่งผลให้คนที่มีอาการพารานอยเปิดใจรับคนอื่นเข้ามาในชีวิตได้ยาก และขาดคนที่จะเข้ามาช่วยเหลือ คนที่มีอาการพารานอยเลยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม
สาเหตุของอาการพารานอย
ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุที่แน่ชัดของอาการหวาดระแวง แต่ละคนอาจมีสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ต่างกันไป เช่น
- ปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ: การได้รับบาดเจ็บทางสมอง การได้รับสารพิษ โรคสมอง ภาวะความจำเสื่อม
- ผลกระทบด้านจิตใจ: เคยผ่านอุบัติเหตุร้ายแรง ภัยพิบัติ การสูญเสียคนใกล้ตัว การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในวัยเด็ก
- การใช้สารเสพติด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- การพักผ่อนไม่เพียงพออย่างรุนแรง
- กรรมพันธุ์ คนที่ญาติใกล้ชิดมีประวัติโรคทางจิตอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการทางจิตมากกว่าคนทั่วไป
พารานอยเป็นอาการของโรคทางจิตที่ควรได้รับการรักษา
นอกจากสาเหตุที่ได้เล่าไปแล้ว พารานอยเป็นผลจากความเจ็บป่วยทางจิต และเกิดขึ้นได้ในโรคทางจิตหลายโรค เช่น
- โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหวาดระแวง (Paranoid Personality Disorder): โรคบุคลิกผิดปกติอาจไม่รุนแรงเท่า 2 โรคแรก แต่ควรได้รับการรักษา มองจากภายนอกคนที่เป็นโรคนี้อาจถูกมองว่าเป็นคนนิสัยไม่ดี เก็บตัว เห็นแก่ตัว ไม่มีเหตุผล และขี้ระแวง เพราะสมองไม่สามารถตีความสารหรือสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง
- โรคหลงผิด (Paranoid Delusion): โรคหลงผิดเป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยคิดไปเอง เข้าใจผิด อย่างคิดว่ามีคนมาหลงรัก คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ เป็นเทพเจ้า มีอำนาจวิเศษ หรือถ้าเป็นแบบพารานอยด์คือหวาดระแวงว่ามีคนกลั่นแกล้ง ทำร้าย หรือสะกดรอย
- โรคจิตชนิดหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia): โรคจิตขั้นรุนแรงที่ส่งผลให้มีระบบความคิดและพฤติกรรมผิดปกติ ทำให้เห็นหลอน ได้ยินแว่วในหัว หรือคิดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ร่วมกับอาการหวาดระแวง
พารานอย อาการหวาดระแวงที่ต้องรักษา
อาการพารานอยที่เกิดขึ้นอาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและคนอื่นได้ หากคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีสัญญาณของอาการนี้ แนะนำว่าลองไปพูดคุยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อน เพราะหากคุณมีอาการนี้จริง คุณควรได้รับการรักษาเพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งการรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง แพทย์จะเป็นคนประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสม อาจมีตั้งแต่การพูดคุยเพื่อปรับความคิด การใช้ยา การบำบัดอื่น ๆ
ต่อไปนี้มุมมองในการใช้คำว่า ‘นอยด์’ ของคุณอาจเปลี่ยนไปเล็กน้อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส