อีกหนึ่งสัญชาตญาณของมนุษย์ที่น่ารู้ คุณเคยสังเกตไหม ทำไมบางคนเมื่อมีการทำความผิดอะไร ก็มักจะต่อต้านความผิดของตัวเอง และโทษคนอื่นเสมอ วันนี้เรามีคำตอบ กลไกนี้มีชื่อเรียกว่า “Defense Mechanisms” กลไกนี้เป็นการปกป้องตัวเองตามสัญญาณ ซึ่งเราจะมานำเสนอข้อมูลลักษณะของคนที่มีพฤติกรรมประเภทนี้กัน รวมทั้งการปรับทัศนคติให้กล้ายอมรับความผิดที่ตนเองทำ ไม่ว่าใคร ๆ ต่างก็เคยทำผิดแต่สิ่งสำคัญคือ การยืดอกยอมรับความผิดของตัวเอง แล้วแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น!
ทำความรู้จักกับ กลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms)
กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) เป็นกลยุทธ์ทางจิตวิทยา ที่จิตใจใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากความวิตกกังวล อารมณ์ที่ไม่สบายใจ หรือการถูกคุกคาม ซึ่งมักจะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นมา โดยที่หลาย ๆ คนไม่รู้ตัว เป็นกลไกที่ใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) จัดเป็นวิธีการป้องกันตนเองในรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้ามีการปล่อยให้กลไกนี้ทำงานเรื่อย ๆ แบบไม่มีการควบคุม หรือไม่มีการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่แย่ลงกว่าเดิม
กลไกการป้องกันตนเองประเภทต่าง ๆ และวิธีการแก้ไข
ภาวะอารมณ์ ความคิด ที่เกิดขึ้นจากกลไกป้องกันตัวเอง ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องเดียวหรือสถานการณ์เดียวเท่านั้น แต่มีความคิดและอารมณ์ที่หลากหลายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเราก็ได้นำคุณลักษณะของกลไกตนเองประเภทต่าง ๆ มาให้คุณได้ทำความรู้จักกัน รวมทั้งยังได้แนะนำวิธีการแก้ไขมาแนะนำพร้อมกันด้วย
1. การปฏิเสธ
ภาวะที่เกิดขึ้น: ปฏิเสธการความจริงที่เจ็บปวด หรือไม่ยอมรับความจริงที่ไม่พึงประสงค์
กลไกที่เกิดขึ้น: หลีกเลี่ยงหรือเพิกเฉยต่อสถานการณ์เลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้น ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มองข้ามความร้ายแรงของสถานการณ์ไป
วิธีแก้ไข: พยายามมองโลกตามความเป็นจริง ยอมรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางแก้ไข
2. การกล่าวโทษผู้อื่น
ภาวะที่เกิดขึ้น: กล่าวโทษผู้อื่นในเรื่องที่ตัวเองทำ หรือตนเองมีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหา หรือทำให้เกิดความผิดพลาดนั้น
กลไกที่เกิดขึ้น: กล่าวหาผู้อื่นว่ามีความผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว คุณไม่ผิดอะไรเลย หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบด้วยการโยนความผิด
วิธีแก้ไข: ฝึกการตระหนักรู้ในตนเองและทำสมาธิ มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อคุณพบว่าตัวเองกำลังกล่าวโทษผู้อื่น ให้ถอยออกมาหนึ่งก้าว และประเมินสิ่งที่คุณมีต่อสถานการณ์นั้น ถ้าคุณมีส่วนทำให้เกิดปัญหาจริง ๆ ก็ต้องยอมรับ
3. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
ภาวะที่เกิดขึ้น: การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เป็นหลัก ไม่ใช้เหตุผล
กลไกที่เกิดขึ้น: พยายามกลบความผิดของตัวเอง ด้วยการสรรหาข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลมาใช้
วิธีแก้ไข: ยอมรับ แสดงความรับผิดชอบในการกระทำและการตัดสินใจของคุณ ด้วยเหตุและผล
4. เมินเฉยความรู้สึกของผู้อื่น ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคุณ
ภาวะที่เกิดขึ้น: มองข้ามการกระทำของตนเอง ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
กลไกที่เกิดขึ้น: ปฏิเสธที่จะยอมรับความผิดของตัวเอง และไม่รับผิดชอบต่ออันตรายที่เกิดขึ้น
วิธีแก้ไข: พิจารณาผลของการกระทำของคุณอย่างจริงใจ มองในมุมมองกลับกัน ถ้าคุณโดนกระทำอย่างนี้แล้วคุณจะรู้สึกยังไง รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่คุณก่อขึ้น และแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริง
5. การหลีกเลี่ยงปัญหา
ภาวะที่เกิดขึ้น: พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ หรืออารมณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลหรือไม่สบายใจ
กลไกที่เกิดขึ้น: เพิกเฉยต่อปัญหา ปัดความรับผิดชอบ
วิธีแก้ไข: ค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์หรืออารมณ์ที่คุณกำลังหลีกเลี่ยง ด้วยการขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้
การรักษา กลไกการป้องกันตัวเอง
กลไกการป้องกันตัวเอง บางครั้งอาจถูกมองว่าเป็นการหลอกตัวเองประเภทหนึ่ง เพราะเป็นการใช้เพื่อซ่อนการตอบสนองทางอารมณ์ที่คุณไม่ต้องการ อย่างไรก็ตามกลไกนี้ส่วนใหญ่ผู้คนจะทำโดยไม่รู้ตัว แต่สำหรับบางคนก็รู้ตัวแต่ “เลือก” ที่จะใช้กลไกนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ได้ คุณสามารถเปลี่ยนกลไกที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนนี้ ให้เป็นกลไกที่ยั่งยืนกว่าได้ โดยวิธีแก้ไขที่เรานำมาแนะนำกันนี้
- คอยสังเกตสัญญาณอันตรายในพฤติกรรม และความคิดของคุณ
- พยายามอย่าโทษผู้อื่น ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดที่มาจากคุณ
- รับผิดชอบต่อความคิด และการกระทำของคุณแบบ 100%
- อย่าหนีจากอารมณ์ด้านลบ เผชิญหน้ากับอารมณ์เหล่านี้ และปล่อยให้ตัวเองได้ร้องไห้บ้าง
- ฝึกสมาธิและเจริญสติ
- เรียนรู้ที่จะโอบรับอารมณ์ของคุณแทนที่จะผลักไสออกไป
- ปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิต เพื่อช่วยในการค้นหาวิธีแก้ปัญหา
- มองปัญหาแบบตรงไปตรงมา หรือแทนที่ตัวเองด้วยคนอื่น เพื่อเช็กว่าถ้าคุณเป็นคนที่มองปัญหานี้ เข้ามาจากภายนอก คุณจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร ใครผิด ใครถูก ใครที่ต้องมีส่วนรวมแสดงความรับผิดชอบบ้าง
และสิ่งสุดท้ายที่เราอยากจะฝากไว้ก็คือ บนโลกนี้ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยพลาด ไม่เคยไม่ทำผิด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น พยายามหาทางแก้ไขปัญหาหรือแสดงความรับผิดชอบให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่
ในกรณีที่คุณมีเพื่อนร่วมงานหรือคนที่ไว้ใจได้ สามารถปรึกษาเพื่อระดมสมองช่วยกันคิดหาทางออกให้ดีที่สุด เราเชื่อว่าถ้าคุณเปิดใจอย่างเต็มที่ ยอมรับในความผิดของตัวเอง และพยายามลงมือแก้ไข ไม่ว่าอย่างไรก็มีคนพร้อมที่จะให้อภัยคุณ และคอยช่วยเหลือคุณให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ และคุณก็จะกลายเป็นคนใหม่ที่เติบโตทางจิตใจมากกว่าเดิม
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส