ในวันที่ 12 กันยายน 2023 ณ โรงแรม JW Marriott ประเทศสิงคโปร์ แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผู้ผลิตยาและนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับโลก ผนึกกำลังกับ Lung Ambition Alliance (LAA) องค์กรศึกษาโรคมะเร็งปอดโดยไม่แสวงหาผลกำไร Global Lung Cancer Coalition และบริษัท Guardant Health จัดงานสัมมนา The future of lung cancer care in Asia เพื่อแถลงสถานการณ์โรคมะเร็งปอดในภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้น

ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ แอสตร้าเซเนก้าได้เชิญผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อส่งต่อข้อมูลที่น่าสนใจและน่ากังวลของสถานการณ์โรคมะเร็งปอดให้ผู้คนของแต่ละประเทศได้รับรู้ ในงานสัมมนามีผู้เชี่ยวชาญ อย่าง Pan-Chyr Yang แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศไต้หวัน Mika Sovak รองประธานและหัวหน้าทีมวิจัยโรคมะเร็งปอด และ Chris L. Hardesty นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพมาให้ความรู้

Mika Sovak

ในช่วงแรกของการสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด เนื่องจากว่าข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่เลยก็ตาม โดยจากข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั้งหมด ผู้ป่วยใหม่ชาวเอเชียมีจำนวนสูงที่สุด รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดด้วย

คนเอเชียมีพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด

เมื่อได้ยินเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ ผู้คนมักนึกถึงการได้รับบุหรี่มือสอง หรือการได้รับสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ของคนอื่น แต่นอกจากสารพิษจากบุหรี่แล้ว พันธุกรรมของคนแต่ละคนล้วนมีส่วนที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน และสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานรุ่นถัดไป

ซึ่งโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่มีลักษณะการเกิดที่ต่างออกไปจากโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนสูบบุหรี่ โดยปัจจัยสำคัญราว 40–55 เปอร์เซ็นต์ของโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนเอเชียเป็นผลมาจากยีนในร่างกายที่ชื่อ EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) ที่มีการเปลี่ยงแปลงของโปรตีน และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีรักษาที่ต่างออกไปจากโรคมะเร็งปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น การใช้ยาที่ออกแบบเพื่อยับยั้งเซลล์ชนิดนี้โดยเฉพาะเพื่อหยุดยั้งการเกิดมะเร็ง และการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศในเอเชียยังใช้การรักษาแบบมาตรฐานที่ถูกบรรจุไว้ในคู่มือการรักษาโรคของแพทย์ การปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะกับลักษณะการเกิดโรคจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกฝ่ายควรเร่งหารือ

โรคมะเร็งปอด รักษาได้ เมื่อพบเร็ว

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่เป็นกลุ่มคนอาเอเชียมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วทั้งโลก นอกจากนี้ อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดในกลุ่มประเทศตะวันนั้นลดลง แต่ในเอเชียกลับสวนทาง โดยเพิ่มขึ้นทุกปี

‘โรคมะเร็ง รู้เร็ว รักษาได้ โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีโอกาสรักษาให้หายได้ เมื่อตรวจพบเร็ว โดยเฉพาะตั้งแต่ระยะที่ 1 แต่ปัญหาที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดในอัตราส่วนที่สูงเป็นผลมาจากการตรวจพบมะเร็งในระยะหลังที่มีความรุนแรง จึงส่งผลให้รักษาได้ยาก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ในแต่ละประเทศมีนโยบายในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ต่างกันออกไป ในงานสัมมนาครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดอย่างเหมาะสมด้วย Low-dose Computed Tomography scan หรือ LDCT ซึ่งเป็นการใช้รังสีความเข้มข้นต่ำในการถ่ายภาพในร่างกาย ร่วมกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อหาเซลล์มะเร็งในความถี่ที่เหมาะสม

คนแต่ละคนมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดแตกต่างกันไป อย่างคนที่สูบบุหรี่จัดหรือมีประวัติการสูบบุหรี่เป็นเวลานานควรเริ่มคัดกรองโรคมะเร็งปอดเมื่ออายุ 50 ปี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สูบอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด เพราะไม่ได้สูบบุหรี่

แต่นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอย่างที่ข้อมูลข้างต้นได้บอกไปว่าปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่มคนเอเชียส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรมที่สามารถส่งต่อได้ ดังนั้น หากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

การศึกษาจากประเทศไต้หวันที่ได้ใช้ LDCT ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรก โดยเปรียบเทียบผลระหว่างคนที่สูบบุหรี่กับคนที่ไม่สูบ แต่คนในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็งปอด พบว่าเกิดโรคมะเร็งระยะที่ 1 ในคนกลุ่มหลังมากกว่า ดังนั้น การตรวจคัดกรองให้เร็วและในความถี่ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาโรคมะเร็งปอด

การวางแผนคัดกรองโรคมะเร็งปอดส่งผลดีในเชิงเศรษฐศาสตร์ของประเทศ

การวางแผนการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคมะเร็งปอดในกลุ่มคนเอเชียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่แอสตร้าเซเนก้าต้องการชี้ให้หน่วยงานสาธารณสุขแต่ละประเทศเห็นและให้ความสำคัญเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและคนที่มีความเสี่ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้นเท่านั้น

แต่สิ่งนี้ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ในช่วงสุดท้าย Chris L. Hardesty นักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพได้ให้ข้อมูลว่า การปรับวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดอย่างเหมาะสมสามารถช่วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงได้กว่า 37 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 1,300 ล้านบาท

ซึ่งรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยออกนโยบาย ให้งบสนับสนุน และปรับรูปแบบของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด ในส่วนของผู้ให้บริการสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องสามารถช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ องค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านการรักษาให้เข้มข้นขึ้น แต่ในภาคประชาชนสามารถช่วยกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคัดกรองโรคอย่างเหมาะสม ทั้งสำหรับโรคมะเร็งปอด และโรคอื่น ๆ

ที่มา: JTO2023, NIH1, NIH2, NIH3, NIH4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส