การใช้ชีวิตแบบไม่มีลูก (Childless/Child-free life) เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของคนยุคใหม่ทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทำให้คู่รักเลือกที่จะไม่มีลูก

ผลการสำรวจจากเว็บไซต์ Cashlady.com พบว่าคนเจน Z กว่า 46 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแผนที่จะมีลูก 36 เปอร์เซ็นต์คือกลุ่มที่ตัดสินใจว่าจะมีลูก และอีก 17 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ตัดสินใจ โดยเหตุผลทึ่คนเจน Z เลือกที่จะไม่มีลูกที่พบจากการสำรวจนี้มีหลายเหตุผลด้วยกัน

  • ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้รู้สึกไม่อยากมีลูก
  • กังวลว่าไม่สามารถซัปพอร์ตให้เด็กมีชีวิตที่ดีหรือมีความมั่นคงด้านการเงินได้
  • รู้สึกอยากใช้เงินที่หามาได้กับการใช้ชีวิตของตัวเองมากกว่า
  • มองว่าการมีลูกเป็นการสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (การมีลูก 1 คนสร้างคาร์บอน 58.8 ตัน/คน/ปี)
  • กังวลว่าไม่สามารถรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูเด็กได้
  • ต้องการใช้เวลาไปกับการใช้ชีวิตของตัวเอง
  • ไม่ชอบเด็ก

นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านสังคม การเมือง ความเป็นอยู่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาก็ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกด้วยเช่นกัน และนอกจากการตัดสินใจที่จะไม่มีลูกแล้ว คู่รักบางคนอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ส่งผลให้ไม่มีลูกได้เช่นกัน

ไม่มีลูก แก่ไปใครจะเลี้ยง?

คำถามที่หลายคนและคู่รักหลายคู่ที่ตัดสินใจไม่มีลูกเคยเจอ หรือแม้แต่คนที่รักเพศเดียวกันก็มักถูกตั้งคำถามนี้จากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าคำถามนี้เป็นผลมาจากแนวคิดเรื่องความกตัญญูในสังคมเอเชียที่หยั่งรากลึกผ่านกาลเวลา ในมุมมองที่ว่าพ่อแม่ทำให้เด็กเกิดขึ้นมาและเลี้ยงดูจนโต จึงเป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อโตขึ้นเพื่อตอบแทนความรัก และความเหน็ดเหนื่อยที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยการมอบความรัก การส่งเงินทองให้ใช้ หรือการดูแลเมื่อยามเจ็บป่วย

ซึ่งคำถามที่ว่าไม่มีลูก แก่ไปใครจะเลี้ยงอาจมาจากความเป็นห่วงที่มาจากคติความเชื่อเดิมในสังคมที่พ่อแม่กังวลว่าลูกจะใช้ชีวิตลำบากเมื่อแก่ตัวไป แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีลูก แล้วแก่ไปใครจะเลี้ยง?

ในสังคมโลกตะวันตก อย่างในอเมริกาและยุโรปในยุคหลังให้ความสำคัญกับอิสระของผู้คนมากขึ้น พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นเพียงครอบครัวและผู้ฟูมฟักให้เด็กเติบโตและสามารถรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวาง

โดยไม่ได้ยึดหลักเรื่องความกตัญญู แต่เป็นความรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งในความรักที่ลูกสามารถตอบแทนด้วยการให้ความรักมากกว่าเงินหรือความเคารพรักแบบไร้เงื่อนไข เพราะไม่ได้ยึดถือคุณค่าแบบเดียวกับสังคมเอเชีย เป็นความรู้สึกที่ ‘อยากให้’ มากกว่า ‘ต้องให้’ และการที่ลูกแยกออกไปมีครอบครัวหรือไม่ได้ดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิดไม่ใช่เรื่องอกตัญญู

ประเทศโลกตะวันตกมีการวางแผนรับมือกับชีวิตในวัยชราที่ตื่นตัวกว่าประเทศในแถบเอเชีย เช่น รัฐสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสม และด้วยคุณธรรมในการยึดถือเรื่องความกตัญญูที่ต่างกัน ทำให้พ่อแม่หรือคนในประเทศเหล่านั้นวางแผนการเงินเพื่อที่จะเลี้ยงดูตัวเองในยามแก่ชราโดยไม่ต้องคิดว่าลูกหลานจะมาเลี้ยงดูหรือไม่แบบอัตโนมัติ เพราะเป็นค่านิยมของสังคมที่ปลูกฝังมาเช่นเดียวกัน

ตัดภาพกลับมาที่สังคมไทยที่ไม่มีรัฐสวัสดิการที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยชรา ทั้งเงินจากรัฐ บริการสุขภาพ การให้ความรู้เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่เหมาะสม ตลอดจนนโยบายการสร้างอาชีพกับคนวัยเกษียณ บวกเข้ากับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และค่านิยมเรื่องการมีลูกไว้เพื่อเลี้ยงดูตนเองตอนแก่ตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดรายได้และคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม

ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานก็ไม่สามารถบริหารเงิน เก็บเงิน หรือนำไปลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะต้องดูแลพ่อแม่หรือช่วยเหลือครอบครัว เกิดวัฏฏะที่ว่าถ้าไม่มีลูก แก่ไปก็ไม่มีใครเลี้ยงวนต่อไปเมื่อลูกหลานโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน จะมากหรือน้อย ยังคงเป็นเรื่องที่ดีเสมอ

ไม่มีลูกมาเลี้ยง แล้วให้ใครเลี้ยงได้บ้าง?

นอกจากการคาดหวังรัฐสวัสดิการที่ดีจากรัฐแล้ว การพึ่งพาตัวเองและวางแผนการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเป็นสิ่งที่คนหรือคู่รักที่ไม่มีลูกควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเงินและศึกษารายละเอียดของสิ่งที่ต้องเจอเมื่ออายุมากขึ้น เช่น การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ปัญหาสุขภาพ และเหตุไม่คาดฝันตามช่วงวัย

แม้ไม่มีลูก แต่สามารถวางแผนการเงินได้ดีและเพียงพอ การใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว อยู่กับคนรัก กับสัตว์เลี้ยง หรือมีเพื่อนบ้านที่คอยดูแลกันในบ้างเรื่องก็อาจเป็นชีวิตบั้นปลายที่มีความสุขได้ในระยะหนึ่ง แต่ปัญหาสุขภาพและความชราอาจส่งผลให้คุณไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันจึงมีบริการต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อคนที่ไม่มีลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ มาดูกันว่าถ้าไม่มีลูกมาเลี้ยงแล้วจะให้ใครเลี้ยงได้บ้าง?

บ้านพักคนชรา/บ้านพักผู้สูงอายุ

บ้านพักคนชราหรือบ้านพักผู้สูงอายุเป็นสถานที่ที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีค่าใช้จ่ายแบบรายเดือน ซึ่งจะได้ที่พักและอาหาร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาจรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือเพิ่มเติมนอกเหนือจากนั้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรกเข้า ผู้ให้บริการบ้านพักคนชรามักเป็นบุคคลทั่วไปที่ผ่านการอบรมในการดูแลผู้สูงอายุ

การอาศัยบ้านพักคนชราจะช่วยให้เจอเพื่อนวัยเดียวกัน ช่วยลดปัญหาเรื่องความเหงาและการเข้าสังคมในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ บ้านพักคนชรามักจัดกิจกรรมที่ช่วยเรื่องสภาพจิตใจและร่างกายของผู้เข้าพักอยู่เสมอ โดยบ้านพักประเภทนี้เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกระดับพื้นฐานสำหรับผู้สูงวัย

เนิร์สซิงโฮม (Nursing Home)

เนิร์สซิงโฮมให้บริการผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน แต่จะมีความพิเศษ คือ มีพยาบาลหรือมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อย่างนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเป็นผู้ป่วยพักฟื้น การพักอาศัยกับเนิร์สซิงโฮมอาจเหมาะสมมากกว่า

โรงพยาบาลผู้สูงอายุ

โรงพยาบาลบางแห่งมีการบริการในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยจะมีแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่ตลอด สะดวกสบาย ความปลอดภัยสูง และมีค่าบริการสูงที่สุดด้วย

สถานที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุมีตั้งแต่ไม่กี่พัน หลายหมื่น จนถึงเป็นแสนต่อเดือน ซึ่งนั่นก็อาจขึ้นอยู่กับเงิน ความต้องการ ความสามารถในการดูแลเองตัวเอง และแผนในการมีชีวิตอยู่ในวัยเกษียณของแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจมีธุรกิจหรือทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นตัวเลือกให้ชีวิตแบบไม่มีลูกมากขึ้น

ที่มา: cashlady.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส