โรคกลัวความตาย (Thanatophobia) คือ อาการวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย โดยผู้ที่มีอาการนี้จะไม่ได้กลัวแค่ความตายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองเท่านั้น แต่จะกลัวความตายและการจากลาของบุคคลรอบข้างที่ตัวเองรักด้วย ซึ่งการรักษาโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้วิธีการจิตบำบัดเข้าช่วย

โรคกลัวความตายเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ?

เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความตาย เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ คุณอาจคิดว่าความตายจะน่ากลัว เจ็บปวด หรือโดดเดี่ยว และหากคุณกำลังเผชิญกับโรคกลัวความตายมันอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน หรือทำให้การใช้ชีวิตในสังคมเป็นเรื่องยาก รวมถึงอาจพบอาการทางกาย เช่น อาการตื่นตระหนก เป็นต้น 

โรคกลัวความตายพบได้บ่อยแค่ไหน ?

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าความวิตกกังวลเรื่องการเสียชีวิตเป็นเรื่องปกติ และการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คน 3-10 เปอร์เซ็นต์ มีความกังวลเรื่องนี้ โดยโรคกลัวความตายอาจส่งผลต่อผู้ใหญ่และเด็ก พบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการดังนี้

  • สุขภาพไม่ดี หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง
  • ไม่มีความเชื่อทางศาสนา
  • รู้สึกไม่พอใจกับชีวิตของตัวเอง
  • มีความนับถือตัวเองต่ำ
  • มีโรคกลัว หรือความผิดปกติด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • มีพ่อแม่หรือคนรักที่แก่ ป่วย หรือกำลังจะตาย
  • ไม่มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่ใกล้ชิด
  • พบเห็นความเจ็บป่วย ความบอบช้ำทางจิตใจ หรือความรุนแรงในงานของตน เช่น ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ หรือนักสังคมสงเคราะห์

นอกจากนี้ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ลูก ๆ ของพ่อแม่สูงอายุมีระดับความวิตกกังวลต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนเป็นพ่อแม่เสียด้วยซ้ำ

สาเหตุของโรคกลัวความตาย 

เหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงจะกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น คุณอาจมีอาการวิตกกังวลต่อการเสียชีวิตได้หากคุณมีประสบการณ์ ดังนี้

  • บาดแผลทางใจ: โรคกลัวความตายอาจเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจส่วนบุคคลหรือประสบการณ์ใกล้ตาย หรือจากการได้ยินคนอื่นพูดถึงประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจของพวกเขา
  • สภาพแวดล้อม: เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยมีพ่อแม่ที่วิตกกังวล ปกป้องมากเกินไป หรือชอบวิจารณ์มากเกินไป มีความเสี่ยงต่อความวิตกกังวล รวมถึงโรคกลัวบางอย่าง
  • ประวัติการละเมิด: ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทางร่างกาย หรือทางอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกลัวความตาย
  • การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว: ความกลัวตายสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่บุคคลประสบกับการเสียชีวิตของพ่อแม่หรือพี่น้อง
  • คำสอนทางศาสนา: ศาสนาบางศาสนาสอนผู้คนว่าพวกเขาจะถูกลงโทษหลังความตาย สิ่งนี้สามารถนำไปสู่โรคกลัวความตายได้
  • อายุ: โรคกลัวความตายมักเกิดขึ้นในคนวัยกลางคนเมื่อเริ่มประสบกับความตายของเพื่อนและครอบครัว
  • การเจ็บป่วยเรื้อรัง: คนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระยะลุกลาม (COPD) 
  • วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข: โรคระบาด เช่น โควิด-19 

ความกลัวตายอาจเป็นต้นตอของอาการกลัวอื่น ๆ เช่น

  • Aerophobia (กลัวการบิน)
  • Agoraphobia (กลัวสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่สามารถขอความช่วยเหลือหากเกิดเหตุร้ายแรง)
  • Aquaphobia (กลัวน้ำ)
  • Arachnophobia (กลัวแมงมุม)
  • Claustrophobia (กลัวความแออัด, พื้นที่จำกัด)

อาการของโรคกลัวความตาย

หากคุณเป็นโรคกลัวความตาย การคิดถึงความตายอาจทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตระหนก หวาดกลัว หรือซึมเศร้าอย่างรุนแรง คุณอาจหลีกเลี่ยงสถานที่ หรือสถานการณ์ที่ดูอันตราย และอาจหมกมุ่นอยู่กับสุขภาพของตัวเอง คอยตรวจสอบสัญญาณของการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา เช่น ตรวจสอบความดันโลหิต หรือค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์ ที่สำคัญมันสามารถพัฒนาไปสู่ภาวะ hypochondriasis หรือ โรคคิดไปเองว่าป่วย ซึ่งเป็นความผิดปกติจากความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ การคิดมากเรื่องความตายก็อาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้

  • หนาวสั่น
  • อาการวิงเวียนศีรษะ
  • เหงื่อออกมากเกินไป 
  • ใจสั่น
  • คลื่นไส้
  • หายใจถี่ (หายใจลำบาก)
  • ตัวสั่น
  • ท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อย 

การวินิจฉัยโรคกลัวความตาย

ไม่มีการทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคกลัวความตาย แต่แพทย์จะตรวจสอบอาการของคุณอย่างรอบคอบ และถามคำถามที่หลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวความตายด้วยปัจจัยต่อไปนี้

  • อาการคงอยู่เป็นเวลา 6 เดือน หรือนานกว่านั้น
  • อาการจะเกิดขึ้นทันทีที่คุณพบกับวัตถุหรือสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัว
  • พยายามหลีกเลี่ยงวัตถุหรือสถานการณ์ที่ที่ตัวเองกลัว
  • มีปัญหาการทำงานในชีวิตประจำวันเนื่องจากความกลัว

หากอาการกลัวความตายรุนแรง และส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน หรือในสถานการณ์ทางสังคม คุณควรรับการรักษาจากแพทย์ เพราะคุณอาจได้รับประโยชน์จากการจิตบำบัดซึ่งช่วยให้คุณพูดถึงความกลัวและความวิตกกังวลในใจได้ อย่ากลัวที่จะพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับความกลัวของคุณ เพื่อหาวิธีที่ดีต่อสุขภาพในการเอาชนะภาวะนี้

ที่มา clevelandclinic , verywellhealth

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส