กลิ่นตัวของคนเราสามารถบอกโรคได้ สังเกตได้ง่าย ๆ คนแต่ละประเทศจะมีกลิ่นตัวที่ต่างกันตามอาหารที่พวกเขารับประทานเป็นประจำ ซึ่งเวลาที่เราเจ็บป่วยหรือร่างกายมีการสะสมของสารเคมีบางอย่างที่มีกลิ่นในปริมาณมาก สารเหล่านั้นจะถูกขับมาผ่านเหงื่อ กลิ่นปาก หรือลมหายใจ ไม่ว่าตัวคุณเองจะได้กลิ่นหรือไม่ก็ตาม อย่างคนเป็นเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงจะมีกลิ่นลมหายใจเป็นกลิ่นหวาน ๆ คล้ายผลไม้
ปัจจุบันเทคโนโลยีในการตรวจโรคด้วยกลิ่นพัฒนาไปไกลมาก ๆ เรามีตั้งแต่สุนัขที่ถูกฝึกมาเพื่อดมกลิ่นหาโรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคมะเร็ง ในขณะเดียวกันในฝั่งของเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ก็มีการสร้างและทดสอบ ‘จมูกเทียม’ (Artificial nose) เพื่อรับกลิ่นและวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพที่เป็นไปได้
ซึ่งล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ได้คิดค้นไมโครชิปที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นจมูกเทียมที่สามารถวิเคราะห์กลิ่นของอาหารเน่าเสียได้ เดิมทีเทคโนโลยีในการตรวจจับและวิเคราะห์กลิ่นมีการพัฒนามาหลายสิบปี แต่เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใช้เวลาและพลังงานในการวิเคราะห์กลิ่นจากการตรวจวัดระดับแก๊สที่เป็นต้นต่อของกลิ่น
แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้คิดค้นจมูกเทียมที่มีขนาดเล็กและสามารถดมกลิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำขึ้น ใช้เวลาและพลังงานน้อยกว่า สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตดีไวซ์ อย่างมือถือหรือแท็บเล็ตต่างจากจมูกเทียมในยุคก่อน
โดยทีมนักวิจัยได้ทดสอบการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการนำเนื้อไก่ใส่เข้าไปในภาชนะที่เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ตรวจจับแก๊ส 8 ตัว แล้วจะเป่าลมเข้าไปในภาชนะ ตัวเซนเซอร์จะคอยตรวจจับแก๊สที่ปล่อยออกมา และประมวลผลการเน่าเสีย ซึ่งในการทดสอบจะเป็นการตรวจจับไฮโดรเจนซัลไฟด์และแอมโมเนียที่เกิดจากการเน่าเสียของโปรตีนสัตว์
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากจมูกเทียมได้รับการพัฒนาจะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ โดยเฉพาะในการตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจจับแก๊สที่อยู่ในลมหายใจ คุณลองจินตนาการถึงการเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจดู แต่จมูกเทียมนี้จะมีความฉลาดและแม่นยำมากกว่าเพื่อใช้ในการประเมินหรือวินิจฉัยโรค
หนึ่งในโรคที่อาจได้รับประโยชน์จากการจมูกเทียมคือ โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเป็นความผิดปกติของ DNA ที่ทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งเซลล์มะเร็งมีลักษณะพิเศษคือสามารถปล่อยสารเคมีในรูปของแก๊สออกมา โดยจะระเหยไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาจมูกเทียม ทั้งในการรับกลิ่น ตรวจจับแก๊ส ไปจนถึงการพัฒนาโปรแกรม สูตรคำนวณ และระบบปัญญาประดิษฐ์อาจช่วยให้การตรวจมะเร็งทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น
Debajit Saha ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาได้ให้ความเห็นว่างานวิจัยจมูกเทียมชิ้นล่าสุดจากนักวิจัยกลุ่มนี้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลและสามารถต่อยอดไปได้
ในการจะตรวจหาโรคมะเร็งด้วยการตรวจจับแก๊สหรือกลิ่นจากเซลล์มะเร็งจำเป็นต้องพัฒนาความละเอียดในการตรวจจับอย่างมากในอัตรา 1 ต่อ 1 พันล้าน และตรวจจับแก๊สได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งจมูกเทียมในการศึกษานี้มีความละเอียดอยู่ที่ 1 ต่อ 1 ล้าน และตรวจจับได้เฉพาะไฮโดรเจนซัลไฟด์และแอมโมเนีย
นอกจากการตรวจจับการเน่าเสียของอาหาร การตรวจจับแก๊สจากเซลล์มะเร็งแล้ว จมูกเทียมอาจมีประโยชน์ในด้านอื่น อย่างการตรวจจับสารเสพติด ระเบิด หรือสิ่งของผิดกฎหมายได้ด้วย
Debajit Saha เป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องจมูกเทียมในการตรวจจับโรคอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเขาพยายามจำลองจมูกเทียมที่มีความสามารถคล้ายกับสมองและหนวดของแมลงที่มีความสามารถในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของแก๊ส ซึ่งในระหว่างนี้เขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีจมูกเทียมที่ตรวจจับแก๊สจากลมหายใจเพื่อหาร่องรอยของโรคมะเร็งช่องปากและโรคมะเร็งปอด
ที่มา: WebMD
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส