สิ่งใดที่มากจนเกินไป สิ่งนั้นอาจสร้างผลกระทบในแง่ลบมากกว่าแง่บวก รวมถึงความคาดหวังที่มีต่อลูกที่มากจนเกินไปด้วย 

วันนี้เราอยากชวนคุณผู้อ่าน มาพูดถึงความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกกัน ซึ่งการมีความหวังในตัวลูกที่มากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดัน ไม่มีความสุข และตามมาด้วยการเกิดภาวะความเครียดอย่างหนัก และถ้าคุณกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้อยู่ เราหวังว่าเรื่องราวที่เรานำมาถ่ายทอดในวันนี้ จะสามารถช่วยคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย 

“ความคาด” หวังจากครอบครัว กำลัง “ทำร้าย” คุณอยู่รึเปล่า? 

“ความคาดหวัง” สามารถส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อพัฒนาการของเด็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้ 

ด้านบวก (+)

  • ความสำเร็จ: พ่อแม่มักต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก ๆ และเชื่อว่าเส้นทางที่พวกเขาเลือกจะนำไปสู่ความสำเร็จและชีวิตที่ดีขึ้น  
  • การสนับสนุน: ผู้ปกครองอาจให้คำแนะนำ และการสนับสนุนเพื่อทำให้บุตรหลานเดินตามเส้นทางที่เลือก ซึ่งอาจรวมถึงการเสนอโอกาสทางการศึกษา แนะนำกิจกรรมนอกหลักสูตร และการให้กำลังใจ
  • แรงจูงใจ: ความคาดหวังของผู้ปกครอง สามารถทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจเรียน ตั้งเป้าหมาย และมุ่งมั่นในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จ  

ด้านลบ (-)

  • ความกดดันและความเครียด: ความคาดหวังที่สูงมากเกินไป สามารถสร้างความกดดันและความเครียดให้กับเด็กได้ เพราะลูกมีความกลัวที่จะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง และอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล เหนื่อยหน่าย เครียด และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต
  • ขาดอิสระ: เมื่อพ่อแม่มีความคาดหวังที่เข้มงวดมาก เด็กจะรู้สึกว่าตนเองขาดอิสระในการทำสิ่งที่ตนเองสนใจ สิ่งนี้จะทำให้เด็กไม่มีความสุข และรู้สึกไม่สมหวัง
  • ความขัดแย้งและความไม่พอใจ: และหากเด็กไม่สามารถทำตามความคาดหวังของผู้ปกครองได้ ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจ และสิ่งนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกตึงเครียด และนำไปสู่ความไม่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย
  • สูญเสียตัวตน: เด็กอาจรู้สึกว่าพวกเขากำลังใช้ชีวิตของคนอื่นมากกว่าที่จะไล่ตามความฝันของตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และไม่มีความสุขในชีวิต 
  • ทำลายความนับถือในตนเอง: ความคาดหวังที่ผู้ปกครองมีต่อเด็ก อาจไม่ใช่สิ่งที่เด็กสนใจ หรือมีความถนัด สิ่งนี้อาจทำให้เด็กเกิดความผิดหวังในตนเอง และตามมาด้วยความรู้สึกที่ถูกทำลายความนับถือตัวเอง 

สร้างสมดุลระหว่างความคาดหวัง และความสุข 

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองคือ การสร้างสมดุลระหว่างการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูก ๆ และการปล่อยให้ลูกมีพื้นที่ของตัวเองบ้าง และทางด้านผู้ที่กำลังถูกคาดหวังที่กำลังอ่านมาถึงตรงนี้ เราก็มีคำแนะนำในการ “พูดแบบเปิดอก” มาฝากกัน 

  • การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา: ให้คุณพูดคุยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมากับพ่อแม่ของคุณ โดยให้คุณนำเสนอไปว่า ความสนใจ จุดแข็ง และแรงบันดาลใจของคุณ คืออะไร แบ่งปันความรู้สึกของคุณ และพูดอย่างมีเหตุผล และมีความจริงใจ 
  • ตามหาสิ่งที่คุณชอบ: ให้คุณใช้เวลาในการสำรวจความสนใจ และสิ่งที่คุณชอบจริง ๆ หลังจากนั้นก็นำไปพูดคุยกับผู้ปกครองว่าความสนใจของคุณ เข้ากันได้ดีกับทักษะและจุดแข็งของคุณอย่างไร
  • การตั้งเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง: พูดคุยกับพ่อแม่เพื่อกำหนดเป้าหมายที่คุณจะทำได้จริง ๆ และสอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของคุณ ซึ่งจะช่วยลดความกดดันและความเครียดไปได้
  • ขอกำลังหนุน: หากคุณพบว่าการพูดคุยกับพ่อแม่ของคุณเป็นเรื่องยาก แม้จะเปิดใจก็ตาม แนะนำให้คุณขอความช่วยเหลือจาก ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ ที่สามารถช่วยเหลือในการพูดคุยนี้ได้ 
  • เปิดมุมมอง: พยายามทำความเข้าใจว่าความคาดหวังของพ่อแม่ อาจมาจากความรักและความห่วงใยต่ออนาคตของคุณ พยายามเข้าใจในมุมมองของพวกเขา และในขณะเดียวกันคุณก็ต้องยืนหยัดในความต้องการของตัวเองด้วย

วิธีเช็กคุณกำลังแบกรับแรงกดดันจากครอบครัวอยู่หรือไม่? 

และเพื่อความชัวร์ก่อนที่จะเตรียมตัวไปพูดคุยกับครอบครัวถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นเราอยากให้คุณลองเช็กเพื่อความมั่นใจกันซะก่อน  

  • ถามใจตัวเอง: ใช้เวลาในการไตร่ตรองความรู้สึกและความคิดของคุณ ถามตัวเองว่าตัวเลือกและการกระทำที่มีอยู่ตอนนี้เกิดจากความปรารถนาของคุณเอง หรือคุณรู้สึกกดดันที่ต้องทำตามความคาดหวังของครอบครัว
  • เช็กอารมณ์: เช็กอารมณ์ของคุณ คุณกำลังรู้สึกวิตกกังวล เครียด หรือหนักใจ เมื่อคิดถึงความคาดหวังของคนในครอบครัวหรือไม่?  
  • คุณเลือกสิ่งนี้เพราะอะไร: พิจารณาเหตุผลที่ทำให้คุณเลือกสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือเรียนอยู่ สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับความสนใจและค่านิยมของคุณหรือไม่ หรือมีเป้าหมายหลักเพื่อตอบสนองความคาดหวังของครอบครัว
  • แรงผลักดัน: พยายามประเมินว่าเป้าหมายและความฝันของคุณเป็นสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ หรือไม่ หรือได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก เช่น ความคาดหวังของผู้ปกครอง

และถ้าคุณเช็กจนชัวร์แล้วว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคุณอยู่นี้มาจาก “ความคาดหวังที่มากเกินไป” ถึงเวลาคุยแล้ว ก่อนคุยให้คุณเลือกเวลาที่เหมาะสม หาเวลาที่สงบและเหมาะสมเพื่อสนทนากับครอบครัวของคุณ หลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องละเอียดอ่อนในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ขอให้คุณจำไว้ว่าการสื่อสารอย่างตรงไปตรงไป การเปิดใจ และการให้เกียรติระหว่างการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ เป้าหมายของการพูดคุยคือ การทำให้ครอบครัวของคุณเข้าใจคุณได้ดีขึ้น และทำให้คุณได้มีพื้นที่ในการเติบโต และได้ใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส