คนดีต้องถูกชม คนชั่วต้องถูกประณาม คอนเซ็ปต์ที่อยู่กับสังคมมนุษย์มาเนิ่นนาน การส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ของคนคนหนึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกนับสิบนับร้อยคน ในขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนร้ายและการก่อเหตุที่สะเทือนขวัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่พรั่นพรึงอาจเป็นการให้กำเนิดปีศาจร้ายตนใหม่
Social Media Contagion Effect หรือ Media Contagion Effect คำเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายที่แปลตรงตัวในภาษาไทย แต่หมายถึงผลกระทบที่การแพร่กระจายของสื่อที่ส่งต่อหรือกระตุ้นอารมณ์หรือความผิดปกติบางอย่างในจิตใจคน ซึ่งกรณีที่กำลังพูดถึงในบทความนี้ คือ อาชญากรรมและเหตุการณ์กราดยิง
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการเกิดเหตุกราดยิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอเมริกาได้ร่วมมือกันหาปัจจัยของสาเหตุนี้ เบื้องต้นจุดร่วมของผู้ก่อเหตุมักประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่าง
- ปัญหาทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ความโกรธแค้น ความเศร้า หรือความหดหู่
- ความโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) หรือภาวะที่คนนั้นตัดขาดจากสังคม แยกตัวออกมาอยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่ในโลกของตัวเอง
- ความผิดปกติทางจิต เช่น อาการหลงผิด บุคลิกแบบต่อต้านสังคม โรคหลงตัวเอง และอื่น ๆ
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเวิสเทิร์นนิวเม็กซิโก เจนนิเฟอร์ จอห์นสตัน และ แอนดรูว์ จอยได้ศึกษาข้อมูลแหล่งต่าง ๆ เพื่อหาเหตุผลที่ทำให้ความชุกหรืออัตราการเกิดเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพวกเข้าพบว่า Social Media Contagion หรือ Media Contagion หรือการแพร่กระจายของสื่อนั้นมีผลด้วยเช่นกัน
เพราะการที่ทั่วทั้งประเทศกำลังอยู่ในความกลัว ผู้คนต่างพูดชื่อของผู้ก่อเหตุ ใบหน้า พร้อมประวัติ และรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับชีวิตของผู้ลงมือ ทั้งจริงบ้าง และไม่จริงบ้าง ตั้งแต่ชาติกำเนิด นิสัยส่วนตัว หรือแม้แต่อาหารที่ชอบกิน พร้อมกับ Mood & Tone การนำเสนอที่ดูดรามา ลึกลับ รุนแรง ไปจนถึงการบรรยายภาพการก่อเหตุที่รุนแรงและสะเทือนขวัญ
สิ่งเหล่านี้เป็นมวลของความสนใจก้อนใหญ่ เป็นสปอตไลต์ที่สว่างที่สุดในโรงละครที่ชื่อว่าพื้นที่สื่อ ไม่ว่าใครก็พูดถึงแต่เรื่องนี้กันทั้งนั้น
เมื่อ Media Contagion Effect รวมกับปัจจัยร่วม 3 ข้อที่พบได้บ่อยให้ผู้ก่อเหตุ ซึ่งอาจเป็นใครสักคนที่กำลังดูข่าวนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ อาจเกิดแรงบันดาลใจในการลงมือ สร้างความหมกมุ่นในตัวคนร้าย เกิดการเลียนแบบ (Copycat effect) การบูชาตัวคนร้าย และปลุกปีศาจในจิตใจของคนที่มีเงื่อนไขเหล่านี้ จนนำไปสู่เหตุน่าสลดใจครั้งใหม่ได้ ซึ่งงานวิจัยพบว่าการเปิดเผยและส่งต่อเรื่องราวเหล่านั้นสัมพันธ์กับการก่อเหตุเพิ่มมากขึ้น
คุณลองจินตนาการดูว่า แม้แต่ตัวคุณเองที่มองว่าตัวเองปกติ สติสัมปชัญญะครบถ้วน แต่เมื่อเสพโซเชียลมีเดีย หลายครั้งคุณอินไปกับเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแส คุณอาจเดือดดาลเมื่อดูคลิปคนที่ถูกเอาเปรียบ คุณอาจสะใจเมื่อเห็นคนบางคนได้รับผลกรรมแม้เป็นเรื่องราวในละครคุณธรรม หรือบางครั้งคุณเศร้าเสียใจไปหลายวันกับการจากไปของคนบนโลกโซเชียลที่ไม่ได้รู้จักกันในชีวิตจริง นั่นแหละ ถ้าคุณเป็นคนที่ภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคงหรือผิดปกติ อารมณ์และเรื่องราวที่มาพร้อมกับสื่ออาจสร้างผลกระทบ และครอบงำคุณได้
การพูดถึงและการขุดคุ้ยเรื่องราวของผู้ก่อเหตุอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นการให้แสงที่มากเกินความจำเป็นกับคนเหล่านั้น สามารถจุดประกายความคิดที่เป็นอันตรายของคนที่มีเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต
การส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเหตุร้ายเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็น เพราะเป็นประโยชน์และอาจช่วยชีวิตคนอื่นได้ แต่ขอบเขตของการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ควรจะอยู่แค่ไหนกัน ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดของเรื่องนี้ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณแล้วว่าคุณจะเลือกที่จะส่งต่อหรือกดแชร์ข้อมูลอื่นที่เกินพอดี อย่างรายละเอียดลงลึกของความรุนแรง เรื่องราวเจาะลึกในวัยเด็ก หรือเมนูอาหารที่ผู้ลงมือชื่นชอบ หรือแม้แต่การเอ่ยชื่อของเขาหรือเธอ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส