Botulism หรือ โรคโบทูลิซึม เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘คอสตริเดียมโบทูลินัม’ (Clostridium Botulinum) เป็นโรคหายาก โดยเมื่อร่างกายได้รับสารพิษจากเชื้อโรค สารพิษนี้จะเข้าไปทำลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เล่นภาพซ้อน หายใจติดขัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอาจทำให้หมดสติ และเสียชีวิตได้

สารพิษชนิดนี้ชื่อว่า ‘โบทูลินัม ท็อกซิน’ (Botulinum Toxin) ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘โบท็อกซ์’ สารเคมีที่นำมาใช้ในทางการแพทย์และความงามที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อหดตัว และกระชับขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นโบท็อกซ์ที่ร่างกายได้รับจากฉีดกับที่มาจากการได้รับเชื้อโรคนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Botulism เกิดจากอะไรได้บ้าง อาการเป็นแบบไหน?

เชื้อคอสตริเดียมโบทูลินัมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 วิธีด้วยกัน

ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม

เชื้อคอสตริเดียมโบทูลินัมจัดเป็นเชื้อแบคทีเรียอีกประเภทที่สามารถทำให้เกิดกลุ่มอาการอาหารเป็นพิษได้ โดยเชื้อนี้อาจปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่มได้ โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง หน่อไม้ปี๊บ และผักกระป๋องต่าง ๆ

อาการ Botulism จากอาหาร

  • กลืนลำบาก พูดไม่ได้ หายใจลำบาก
  • ปากแห้ง
  • หนังตาตก หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว น้ำลายไหล
  • ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตะคริวที่ท้อง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต

เข้าสู่ร่างกายผ่านแผล

เช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่น ๆ คอสตริเดียวโบทูลินัมที่ทำให้เกิด Botulism สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ โดยเชื้อนี้พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ โดยเฉพาะในดิน อาการ Botulism ผ่านทางแผลคล้ายกับการได้รับผ่านอาหาร แต่จะมีอาการปวดบวมบริเวณแผล และผิวหนังรอบแผลมีสีที่เปลี่ยนไป โดยอาจมีไข้ร่วมด้วย

เข้าสู่ร่างกายทารกผ่านสปอร์

คลอสตริเดียมโบทูลินัมสามารถเข้าสู่ร่างกายทารกและเข้าไปสร้างสารพิษในระบบทางเดินอาหาร และทำให้เกิดอาการจนทำให้ทารกเสียชีวิตได้ โดยแหล่งของสปอร์ของแบคทีเรียชนิดนี้ที่พบได้บ่อย คือ น้ำผึ้ง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมห้ามทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีได้รับน้ำผึ้ง

โดยอาการอาจเกิดในช่วง 18–36 ชั่วโมงหลังได้รับสปอร์หรืออาหารที่มีสปอร์เข้าไป เริ่มจากอาการท้องเสีย กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก งอแง น้ำลายไหล หนังตาตก รับประทานอาหารหรือดื่มนมไม่ได้

ผ่านการฉีดโบท็อกซ์

โดยปกติแล้ว การฉีดโบท็อกซ์ทางการแพทย์และความสวยงามที่ได้มาตรฐาน โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมมาอย่างถูกต้องนั้นปลอดภัยและเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงต่ำ แต่บางเคส ซึ่งหาได้ยากการได้รับโบท็อกซ์อาจเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน

หากพบอาการ Botulism หรืออาการที่คล้ายกัน ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างอัมพาตที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ โดยการรักษา Botulism แพทย์อาจใช้ยาต้านพิษ และรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

Botulism ป้องกันได้

Botulism พบได้ยาก และวิธีต่อไปนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคคอสตริเดียมโบทูลินัมที่เป็นสาเหตุได้

1. ล้างมือให้สะอาดเสมอ

2. ดูแลรักษาแผลให้สะอาด ใช้ผ้าปิดแผล ไม่ใช้มือจับแผล

3. เลือกอาหารกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอบบุบ ฉลากไม่ฉีกขาด และผลิตใหม่

4. เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ ผ่านการปรุงด้วยความร้อน

5. ห้ามป้อนน้ำผึ้งหรืออาหารที่ไม่จำเป็นแก่เด็กทารกอายุน้อย

6. เลือกฉีดโบท็อกซ์กับโรงพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามที่ได้มาตรฐาน

ที่มา: Mayo clinic, CDC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส