(6 ตุลาคม 2566) กรุงเทพฯ – บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือต่อยอดโครงการ “Don’t Wait. Get Checked.” มุ่งขยายการเข้าถึงบริการและการรักษาทางการแพทย์ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงาน ณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
โดยมีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสวีเดน ประจำประเทศไทย และเบน มอลีย์ ทูตพาณิชย์และผู้อำนวยการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นพยานในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งตัวแทนทั้ง 2 ท่านให้ความเห็นที่ตรงกันในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เสริมในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะแรก
โดยตัวแทนเอกอัครราชทูตประเทศสวีเดนให้ความเห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากอย่างปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กก็มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ เบน มอเรย์ ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความเป็นผู้ของคนสูงวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งว่าไม่เพียงพออายุที่ยืนยาวเท่านั้น แต่ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย
โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย ที่มีอัตราการเสียชีวิตกว่า 80,000 คน ต่อปี โดยมีมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้นของการเสียชีวิต โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมักตรวจพบในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ดังนั้น การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงสานต่อการดำเนินงานภายใต้โครงการ “Don’t Wait. Get Checked.” โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นไปแล้วกว่า 7,000 ราย
ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ป่วยที่ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอด 586 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอดที่มีโอกาสความน่าจะเป็นในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูง ถึงร้อยละ 0.3 อีกด้วย
ประโยชน์จากความก้าวหน้าในการใช้ AI ในการตรวจโรคมะเร็งปอดระยะแรก
ผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีเอกซเรย์มีจำนวนมาก ซึ่งการอ่านภาพถ่ายรังสีจำเป็นต้องใช้บุคลาการทางแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อย่างนักรังสีวิทยา ร่วมกับความละเอียดและเวลาเพื่อยืนยันถึงลักษณะการเกิดมะเร็งของภาพถ่ายรังสีของผู้ป่วยแต่ละราย จึงเกิดปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอกับจำนวนของผู้เข้ารับการตรวจ ผลการตรวจคัดกรองจึงอาจล่าช้า ส่งผลให้การเข้ารับการรักษาล่าช้าตามไปด้วย จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
การใช้ AI เพื่อเป็นตัวช่วยในการตรวจหาร่องรอยของก้อนเนื้อหรือเซลล์มะเร็งในการคัดกรองโรคมะเร็งปอดจะช่วยลดภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตและการทำงาน ช่วยให้การตรวจภาพถ่ายรังสีละเอียดขึ้น ตรวจได้เร็วขึ้น หากพบร่องรอยของโรคมะเร็ง ผู้ป่วยก็เข้าสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายและลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อเข้ารับการรักษได้ทันเวลา
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การสร้างสุขภาพที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ โดยเรามีความตั้งใจที่จะยกระดับบริการด้านสาธารณสุขด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้
ซึ่งโครงการ Don’t Wait. Get Checked. จาก แอสตร้าเซนเนก้า ที่นำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นได้ตอบโจทย์และส่งผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนนโยบายของ กทม. ภายใต้โครงการ Bangkok Health Zoning ผ่านการทำ Preventive Urban Medicine (การป้องกันโรคสำหรับคนในเขตเมือง) เพื่อส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพ และส่งเสริมความรู้ให้ชุมชนในระดับเส้นเลือดฝอย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนสามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมยิ่งขึ้น ซึ่งผลการศึกษาจากการทำวิจัยในโครงการฯ นี้ ทางกรุงเทพฯ จะนำมาพิจารณาเพื่อนำไปสู่นโยบายสุขภาพของกรุงเทพฯ อีกต่อไปอนาคต”
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ยังกล่าวถึงเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในการเป็น Smart City หรือเมืองที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนเมือง โดยได้กล่าวการใช้ AI ทางด้านสุขภาพว่าสามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ผู้คนก็จะได้รับบริการสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย
ความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อเป้าหมายในการเพิ่ม ‘อัตราการรอดชีวิตห้าปี’ ของผู้ป่วยให้เป็นสองเท่า ภายในพ.ศ. 2568 ของ Lung Ambition Alliance (LAA) ที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติ 4 องค์กร ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า Global Lung Cancer Coalition (GLCC) Guardant Health และ International Association for the Study of Lung Cancer (IASLC) มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุพันธกิจใน 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด ผ่านการส่งเสริมการตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับโรคมะเร็งปอดเพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบในระยะเริ่มต้นให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย กล่าวว่า “แอสตร้าเซนเนก้า มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผ่านการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน ชุมชน และโลกอย่างยั่งยืน
ซึ่งโรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลักที่เราให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเราได้ค้นคว้า คิดค้น และสนับสนุนนวัตกรรมที่จะมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นผ่านการใช้เทคโนโลยี AI
ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับเส้นทางสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมและก้าวไปสู่การดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล จากความร่วมมือในครั้งนี้ เราตั้งเป้าหมายที่จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นแก่ประชาชนกว่า 500,000 รายให้ได้ภายในปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยต่อไป”
เทคโนโลยี AI หรือซอฟต์แวร์ “qXR” ที่นำมาติดตั้งในโครงการนี้ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Qure.ai บริษัทผู้พัฒนาโซลูชัน AI ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของแอสตร้าเซนเนก้าที่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น
ซึ่งโซลูชันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นเครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ ที่นำความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึกมาระบุความผิดปกติจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดได้สูงสุด 29 รายการ รวมไปถึงการระบุขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ หรือร่องรอยอาการที่อาจบ่งชี้โรคมะเร็งปอดได้อย่างแม่นยำ
นายปราชานต์ วอร์ริเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Qure.ai กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI อันล้ำสมัยของ Qure หรือ “qXR” เพื่อวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมคัดกรองเบื้องต้นเพื่อระบุความเสี่ยงมะเร็งปอด
โดยจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจหาก้อนเนื้อในปอดซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ เมื่อมีการระบุก้อนเนื้อที่น่าสงสัยในปอดแล้ว ผู้ป่วยจะได้เข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ทันที เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที”
รายละเอียดจุดคัดกรองเคลื่อนที่ และโรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
- หน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำนักอนามัย
และอีกหลายโรงพยาบาลภายใต้กรุงเทพมหานครอีกในอนาคต
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส