“เกม” มักตกเป็นแพะรับบาปในเรื่องร้าย ๆ หลาย ๆ เรื่องที่เยาวชนทำ แต่จริง ๆ แล้วงานวิจัยบางชิ้นกลับพบว่า เกมไม่ได้มีอิทธิพลต่อความรุนแรงในเด็กมากขนาดนั้น และในขณะเดียวกันการเล่นเกมก็ยังส่งผลดีต่อสมองและสุขภาพจิตด้วย วันนี้ Hack for Health ขอเป็นตัวแทนนำเสนอข้อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริงอีกแง่มุมหนึ่งให้สังคมได้ทำความเข้าใจกัน เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องของ “เกมและเด็ก” 

ขอแนะนำ งานวิจัยที่นำโดย Aaron Drummond จาก New Zealand’s Massey University

งานวิจัยนี้ ได้มีการวิเคราะห์จากการศึกษาทั่วโลก 28 ฉบับ ย้อนหลังไปจนถึงปี 2008 พบว่า การเล่นวิดีโอเกมไม่ได้นำไปสู่การเกิดความรุนแรงหรือความก้าวร้าว ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ข้อมูล ที่รวบรวมมาจากคนหนุ่มสาวมากกว่า 21,000 คนทั่วโลก

งานวิจัยนี้ นำโดย Aaron Drummond จากมหาวิทยาลัย New Zealand’s Massey University ที่ได้ลงมือตรวจสอบการศึกษาจำนวน 28 ชิ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์ระหว่าง “พฤติกรรมก้าวร้าวและการเล่นวิดีโอเกม” โดยมาจากวิธีการวิเคราะห์ที่เรียกว่า “เมตา” (Meta-analysis)

เจาะลึกข้อมูลในรายงาน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science 

การศึกษา ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวก (+) ทางสถิติ ระหว่างพฤติกรรมก้าวร้าวและการเล่นวิดีโอเกม ซึ่งพบว่ามีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พบความก้าวร้าวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จัดอยู่ในระดับ “ผลกระทบเล็กน้อย” 

“จากการวิจัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ จึงไม่อาจสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า การเล่นเกมที่มีความรุนแรง จะสร้างผลกระทบระยะยาวในการทำให้เกิดความก้าวร้าวของเยาวชน” รายงานกล่าว

นอกจากนี้ จากการเจาะลึกการศึกษาต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในการวิจัยย้อนหลังไปจนถึงปี 2008 พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกเพียงเล็กน้อยระหว่างความรุนแรงที่มาจากการเล่นวิดีโอเกม โดยคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของผลกระทบเหล่านั้น  

การเล่นเกมไม่สร้างนิสัยความรุนแรงขึ้นมาทันที แต่จะสะสมในระยะยาวรึเปล่า? 

และหนึ่งในคำถามที่หลาย ๆ คนต่างสงสัยกันมากก็คือ การเล่นเกมอาจจะไม่ได้บ่มเพาะนิสัยความรุนแรงให้เกิดขึ้นมาทันที แต่นิสัยความรุนแรงจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการสะสมอารมณ์ในระยะยาวรึเปล่า? ซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาก็ไม่พบหลักฐานของการสะสมอารมณ์ดังกล่าว  

การศึกษาพบว่า “ผลกระทบระยะยาวของการเล่นเกมที่มีความรุนแรง ที่จะทำให้เกิดความก้าวร้าวกับเยาวชนนั้น ใกล้เคียงเท่ากับ 0”

ยังไม่มีหลักฐานว่า การเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง จะนำไปสู่การเกิดความรุนแรงที่แท้จริง 

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ได้ทำการวิจัยจากเด็กผู้ชายที่มีอายุ 8 – 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรงมากที่สุด และเช็กการเกิดความรุนแรง 2 ประเภท ได้แก่ การรุกราน/ทำร้ายผู้อื่น และการทำลายสิ่งของ/ทรัพย์สิน ซึ่งนักวิจัยไม่พบหลักฐานว่า มีการรุกราน/ทำร้ายผู้อื่น หลังจากเด็ก ๆ เล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งผู้ปกครองรายงานว่าลูก ๆ ของพวกเขา มีแนวโน้มที่จะทำลายสิ่งของ หลังจากเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน วารสาร Journal of Economic Behavior & Organisation

“ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าการเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรงอาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกปั่นป่วนได้บ้าง แต่ความปั่นป่วนนี้ไม่ได้นำมาแปลเป็นความรุนแรงต่อผู้อื่น” ผู้เขียน Agne Suziedelyte กล่าว โดยเธอเป็นอาจารย์อาวุโส ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ของ City, University of London 

ซึ่งการ “โทษเกม” มักปรากฏขึ้นหลังจากเกิดเหตุกราดยิง และผู้กระทำผิดมีความสนใจในการเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง หรือมีความชอบต่ออาวุธ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาเสนอแนะว่า ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาการความเจ็บป่วยทางจิต หรือการเข้าถึงปืนได้ง่ายเกินไป ก็เป็นอีกหลาย ๆ เหตุผล ที่สามารถนำประกอบกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นได้ 

การเล่นเกมส่งผลดีต่อสมองและสุขภาพจิต ของเด็กได้อย่างไร? 

การเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม เกมกระดาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ สามารถส่งผลเชิงบวกที่ดีต่อสมองและสุขภาพจิตของเด็กได้ โดยมีข้อดีที่ทาง Hack for Health อยากนำเสนอ ดังนี้ 

1. ช่วยในการพัฒนาองค์ความรู้ 

เกมจำนวนมาก มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการไขปริศนาและการเอาชนะความท้าทาย ซึ่งสามารถช่วยในการพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และกระตุ้นการคิดเพื่อแก้ปัญหา และเกมยังต้องให้ผู้เล่นจดจำกฎ, กลยุทธ์ และข้อมูลในเกม ซึ่งช่วยในเรื่องของการกระตุ้นความจำอีกด้วย 

2. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ 

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมกระดาน หรือการสร้างโลกในวิดีโอเกม เกมบางเกมเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ออกแบบตัวละคร สร้างโลกเสมือนจริงได้ ทำให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ 

3. พัฒนาทักษะทางสังคม

เกมที่มีผู้เล่นหลายคนในรูปแบบออนไลน์ จะช่วยส่งเสริมการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และยังสอนให้เด็ก ๆ รู้จักน้ำใจนักกีฬา เกมการแข่งขันจะสอนให้เด็ก ๆ รู้วิธีชนะอย่างสง่างาม และพ่ายแพ้อย่างมีศักดิ์ศรี

4. ช่วยลดความเครียด 

การเล่นจัดเป็นวิธีที่สนุกสนาน และทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายสำหรับเด็ก ๆ เป็นการสร้างวิถีชีวิตที่มีความสมดุลไม่ได้เคร่งเครียดไปกับการเรียนมากเกินไป ทำให้เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังเป็นเด็กอยู่  

Hack for Health ขอแนะนำว่าการสร้างสมดุลในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี ไม่เว้นแม้กระทั่งช่วงวัยเด็ก การปล่อยให้เด็กเล่นเกมมากจนเกินไป เด็กก็อาจจะขาดความรู้ไม่สนใจการเรียน แต่ในขณะเดียวกันถ้าปล่อยให้เด็กร่ำเรียนวิชาการเพียงอย่างเดียวจนไม่มีเวลาพักให้ปล่อยใจปล่อยอารมณ์แบบสบาย ๆ ก็อาจจะทำให้เด็กนั้นเกิดความเครียดอย่างหนัก และเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

ดังนั้น คุณพ่อ-คุณแม่ ควรใส่ใจช่วยลูกบริหารเวลาให้เกิดความสมดุล ให้เด็กได้เล่นเกมอย่างที่ชอบบ้าง ได้ทำกิจกรรมที่สนุก ๆ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนที่มีคุณภาพ Hack for Health เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ก็จะหมดห่วงในเรื่องของการที่เด็กจะซึมซับความรุนแรงที่มาจากเกม เพราะเด็กจะสามารถแยกแยะระหว่างโลกของเกม กับความเป็นจริงได้นั่นเอง

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

ที่มา: The Guadian, Royal Society Publishing, HealthDay

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส