3 พฤศจิกายน 2566 – บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้จัด Panal Discussion ในหัวข้อ A Journey of Longevity การเดินทางสู่ความผาสุก และชีวิตที่ยืนยาว ณ BDMS Connect Center ถนนวิทยุ ภายในงาน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททอง ผู้ก่อตั้งบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายในครั้งนี้ด้วย โดยมี ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ Vice President ด้าน Innovative Sustainability และคุณสุระยุชฐ์ เมืองมั่งคั่ง Assistant Director Corporate HR ของ BDMS เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายในครั้งนี้
การเปรียบสุขภาพเป็นการเดินทาง และการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนเป็นจุดหมาย การดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง และถูกวิธีเป็นเหมือนถนนที่มีการดูแลรักษามาอย่างดี ช่วยให้รถหรือร่างกายของเราเดินทางไปสู่การมีชีวิตยืนยาวได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งตรงกับเนื้อหาหัวข้อ A Journey of Longevity ที่ได้ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเชิงรุกที่มีส่วนสำคัญในการบริหาร และออกแบบโปรแกรมสุขภาพของบริษัทในเครือ BDMS มาอภิปรายแง่มุมที่พาทุกคนเดินทางไปสู่ความยั่งยืนด้านสุขภาพ
อัฐ ทองแตง ประธานคณะผู้บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ได้พูดถึงแนวทางการขยายขอบเขตของโรงพยาบาลให้ครอบคลุมถึงการดูแลสุขภาพสำหรับคนที่ไม่ป่วยด้วย เพราะผู้ใช้บริการโรงพยาบาลส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ และมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วยเหล่านั้น ส่วนที่จะส่งเสริมสุขภาพให้กับคนทั่วไปที่อยากมีสุขภาพดี และไม่ป่วยมักถูกแยกออกจากโรงพยาบาล
เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลจึงมีไอเดียในการเปลี่ยนให้โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ไม่ป่วยด้วยเช่นกัน โดยอัฐ ทองแตงได้เล่าถึงกรณีศึกษาทางที่เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลได้ทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่าง All You Can Check แพ็กเกจตรวจสุขภาพตลอดปีเพื่อสนับสนุนให้คนหันมาตรวจสุขภาพกันมากขึ้น และบ่อยขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่เข้ามาตรวจได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อดูแลตัวเองขณะที่ยังไม่ป่วย (Preventive Medicine)
ทางเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลยังมีแผนออกแบบแพ็กเกจ และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพแบบเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี และไม่ป่วยให้กับผู้ใช้บริการ
ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ห้องปฏิบัติการสุขภาพในเครือ BDMS ได้อภิปรายในฐานะเทคนิคการแพทย์ที่คลุกคลีอยู่กับการตรวจสุขภาพมาอย่างยาวนาน และได้หยิบยกเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชีวิตที่ยืนยาวให้กับผู้คนผ่านการตรวจพันธุกรรม เช่น การใช้ Big Data การใช้อัลกอริทึม การใช้ AI ไปจนถึงการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์สุขภาพ
ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจเป็นส่วนสำคัญของ Age Reverse Strategy หรือการย้อนวัย โดยตั้งเป้าไปที่ผู้คนที่ใช้เวลาในการงานทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่งคั่งสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเผชิญกับความชรา แม้อายุจะเพิ่มขึ้น
การตรวจพันธุกรรมสามารถบอกได้ทั้งความเสี่ยงของโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนได้ลึก และละเอียด รวมไปถึงการค้นหาความพิเศษที่ซ่อนอยู่ภายในพันธุกรรม เช่นพรสวรรค์และความถนัด โดย ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ได้ยกทฤษฎี 12 Hallmark of Aging ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ภายในร่างกาย และการมีอยู่ของพันธุกรรมที่ส่งผลให้มนุษย์บางคนมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไป
การตรวจพันธุกรรมจึงเป็นวิธีที่ช่วยไขความลับสุขภาพของผู้คนที่ทันสมัยที่สุดวิธีหนึ่งในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพื่อการวางแผนสุขภาพให้เหมาะกับตนเอง
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร BDMS Wellness Clinic และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ที่รู้จักกันในชื่อ หมอแอมป์ โดยหมอแอมป์ได้กล่าวถึงการตรวจพันธุกรรมว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการมีอายุที่ยืนยาว เพราะการตรวจพันธุกรรมสามารถบอกอาหารที่แพ้ และอาหารปกติที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบที่ไม่รู้ตัว
หมอแอมป์ได้กล่าวถึงหัวใจของการมีชีวิตที่ยืนยาวว่าไม่ใช่แค่มีอายุที่ยืนยาวเท่านั้น แต่ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย เพราะปัจจุบันทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อย มีอัตราการเกิดน้อยกว่าการเสียชีวิต และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในไม่ช้า หมายความว่าภาระในการดูแลผู้สูงอายุจะหนักขึ้น การดูแลตัวเองโดยเร็วจะช่วยให้มีอายุที่ยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข โดยไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง
NCDs (Non Contagios Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 คนทั่วโลกกว่า 45 ล้านคนเสียชีวิตจาก NCDs อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเหล่านี้ คือ การละละเลยการดูแลสุขภาพ เช่น ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ควบคุมน้ำหนัก สูบบุหรี่ และดื่มสุราเป็นประจำ
หมอแอมป์ได้แนะนำว่าการมีอายุที่ยืนยาว แข็งแรง และมีความสุขนั้นง่ายกว่าที่คิดด้วยการลงมือดูแลตัวด้วยวิธีง่าย ๆ ที่หมอแอมป์เรียกว่า Lifestyle Medicine ซึ่งได้แก่
- การออกกำลังกาย
- การควบคุมความเครียด
- การรับประทานอาหารปรุงแต่งน้อย และอาหารจากพืช
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อย่างบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การนอนหลับพักผ่อนอย่างเหมาะสม
- การพูดคุย และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างสม่ำเสมอ
Lifestyle Medicine เหล่านี้สามารถสร้างสุขภาพทางกาย และทางใจที่ดีได้ไปพร้อมกัน ลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ และช่วยพาทุกคนเดินทางไปสู่ความผาสุก และชีวิตที่ยืนยาวได้
การอภิปรายในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกให้ผู้คนได้เห็นถึงกุญแจสำคัญในการดูแลสุขภาพเพื่อสร้างชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างชัดเจน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส