กระเป๋าสะพายหลัง หรือเป้สะพายหลังเป็นของใช้ที่ทุกคนน่าจะมีติดตัว เพื่อใส่สิ่งของต่าง ๆ ทั้งเพื่อการทำงาน เดินทาง หรือใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งนอกจากดีไซน์ รูปร่าง สีสัน ขนาด และการใช้งานแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และคนส่วนใหญ่มักมองข้าม คือ ฟังก์ชันในการรองรับน้ำหนัก และการออกแบบให้เข้ากับสรีระร่างกาย

ปัจจุบันนี้ อาการปวดหลังเพิ่มวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนสูงวัยเท่านั้นที่ปวดหลัง แม้แต่ First Jobber ก็ปวดด้วยเหมือนกัน ทั้งจากรูปแบบการทำงาน และไลฟ์สไตล์ และการเลือกใช้กระเป๋าสะพายที่ไม่ได้ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องสะพายของหนักอยู่บ่อย ๆ

บทความนี้เลยจะมาแนะนำวิธีเลือกกระเป๋าสะพาย ทั้งเพื่อการใช้งานที่ดี และเพื่อสุขภาพที่ดีกัน

แบกเยอะ ของหนัก ควรใช้กระเป๋าสะพายหลัง

กระเป๋าสะพายหลังเป็นกระเป๋าที่เหมาะกับหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะถ้าคุณต้องแบกของเยอะ หรือของหนัก เพราะสายกระเป๋าของกระเป๋าสะพายทั้ง 2 ข้างจะช่วยเฉลี่ยกระจายน้ำหนักได้ดีกว่าการใช้กระเป๋าคาดอก กระเป๋าสะพายไหล่ หรือกระเป๋าถือ

หากคุณใช้กระเป๋าอื่นที่ไม่ใช่กระเป๋าสะพายหลังในการใช้ใส่ของหนัก ระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังที่คอ ไหล่ และหลังได้ เพราะน้ำหนักจะไปกดทับที่จุดจุดเดียว

วิธีเลือก และใช้กระเป๋าสะพายหลังไม่ให้ปวดหลัง

แม้จะเป็นของใช้ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่ถ้าคุณลองเปลี่ยนไปใช้กระเป๋าสะพายที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์จะช่วยให้คุณรู้สึกเบา และสบายกว่าเดิม นอกจากนี้ การใช้อย่างถูกต้องก็มีผลด้วยเหมือนกัน

วิธีเลือกซื้อกระเป๋าสะพายหลัง

นอกจากขนาด และดีไซน์แล้ว ให้ดูฟังก์ชันการซัปพอร์ตสรีระของกระเป๋าใบนั้นด้วย

  • สายสะพายไหล่ ควรมีความกว้างกำลังดี มีการบุฟองน้ำ เมมโมรีโฟม (Memory foam) หรือออกแบบให้สายสะพานบริเวณเหนือหัวไหล่มีความหนา และนุ่มเพื่อลดแรงกด กระจายน้ำหนัก ลดอาการเจ็บไหล่ และควรระบายอากาศได้ดีเพื่อลดกลิ่นอับ
  • ด้านหลังของกระเป๋า ควรมีการบุฟองน้ำ หรือเมมโมรีโฟมไว้ด้วยเช่นกันเพื่อลดแรงกดจากกระเป๋า โดยมีตั้งแต่การบุวัสดุเพื่อลดแรงกด ไปจนถึงโครงสำหรับลดแรงกดโดยเฉพาะ
  • สายคาดอก และสายคาดเอว สำหรับใครที่แบกของหนัก เป็นสายแบ็กแพ็กเกอร์ (Backpacker) สายคาดอก และสายคาดเอวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยกระจายน้ำแล้ว จะลดการถ่วงดึงเมื่อเดินขึ้น หรือลงเนิน ซึ่งป้องกันการล้ม และหงายหลัง
  • เลือกกระเป๋าที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรงเพื่อลดน้ำหนักที่ต้องแบก แต่ยังสามารถใส่ของได้ในจำนวน และน้ำหนักเท่าเดิม
  • เลือกกระเป๋าสะพายเฉพาะกิจ อย่างใครที่ชอบเดินป่า ปีนเขา หรือเป็นสายแบ็กแพ็กเกอร์ แนะนำให้เลือกกระเป๋าสำหรับการเดินป่า หรือเดินทางโดยเฉพาะ เพราะโครงสร้างจะออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักที่มากกว่ากระเป๋าสะพายทั่วไป

นอกจากนี้ ควรเลือกกระเป๋าที่เหมาะกับช่วงวัย ส่วนสูง และเพศด้วย ซึ่งอาจหายากกว่ากระเป๋าทั่วไป แต่กระเป๋าสะพายเหล่านี้จะเข้ากับสรีระของแต่ละคนได้มากกว่ากระเป๋าทั่วไป

น้ำหนักที่แบกไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว

เพื่อลดการใช้งานกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาทหนักเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ และอาการปวดในระยะยาว ไม่ควรแบกน้ำหนักเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หรือสูงสุดไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นการสะพายที่ไม่บ่อยมากนัก

ใส่ของหนักไว้ใกล้หลังให้มากที่สุด

ถ้าคุณต้องแบกของที่มีน้ำหนักมากหลายชิ้นใส่กระเป๋า ควรใส่ของชิ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุดไว้ด้านในสุดของกระเป๋า หรือใกล้กับหลังของเราเวลาสะพายมากที่สุดเพื่อลดการถ่วงของกระเป๋าไปด้านหลัง ที่อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก เพราะการรั้งจากแรงถ่วงในกระเป๋า

ดึงสายสะพายให้พอดีเสมอ

การดึงสายสะพายให้ใกล้ และแนบกับหลังพอดี ไม่แน่น และไม่หย่อนเกินไปจะช่วยให้น้ำหนักของกระเป๋าสะพายกระจายไปทั่วร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนในการสะพายได้ แต่ถ้าปล่อยสะพายหลวม แล้วตัวกระเป๋าหย่อนจะให้น้ำหนักรั้งบริเวณไหล่ หลัง และลำตัวส่วนบน จนทำให้กล้ามเนื้อล้า และเกิดอาการปวดได้

นอกจากวิธีใช้เหล่านี้แล้ว ยังมีทิปส์ง่าย ๆ เกี่ยวกับการใช้กระเป๋าสะพายหลังที่คุณสามารถทำได้เลย เช่น

  • เลี่ยงการสะพายกระเป๋าด้วยไหล่ข้างเดียว
  • เปลี่ยนมาใช้ของไซส์ที่เหมาะกับการพกพา
  • พกของเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  • กระจายสิ่งของไว้ตามช่องต่าง ๆ ของกระเป๋า
  • ออกกำลังกายช่วงลำตัว และหลังช่วยลดการบาดเจ็บ และอาการปวดจากการสะพายได้

เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณสามารถใช้กระเป๋าสะพายหลังได้อย่างปลอดภัย และเบามากขึ้นแล้ว ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดหลัง และปวดไหล่ได้ หากคุณลองเปลี่ยนกระเป๋า และวิธีสะพายตามที่บอกแล้ว แต่อาการปวดยังคงรบกวนคุณอยู่ แนะนำว่าควรเช็กท่าทางการนั่งทำงาน หรือพฤติกรรมอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังเพื่อหาสาเหตุ

ที่มา 1, 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส