“การฟังเพลงเศร้า” เวลา “เศร้า” ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเรามาลองพิจารณาคิดดูดี ๆ เราก็จะพบว่าความเศร้าเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์เอาซะเลย เพราะทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ทำไมกันนะเราถึงต้องฟังเพลงเศร้าให้เกิดการตอกย้ำเข้าไปอีก แทนที่จะไปฟังเพลงอื่น หรือทำกิจกรรมอื่นที่ทำให้ตัวเองรู้สึกสดชื่น วันนี้เราจะมาบอกเล่าถึงเหตุผลที่คนเศร้าชอบฟังเพลงเศร้ากัน และมาดูกันซิว่า เศร้าแค่ไหนถึงพอดี 

ยิ่งเศร้ายิ่งฟัง ตอกย้ำเข้าไป! ทำไมถึงเป็นเช่นนี้? 

ปรากฏการณ์ที่คนที่มีความเศร้า ชอบฟังเศร้า เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและสามารถอธิบายได้จากปัจจัยทางจิตวิทยาต่าง ๆ และขอบอกเลยว่าการฟังเพลงเศร้านี้ ไม่ได้เป็นการตอกย้ำความเศร้าเสมอไป แต่ถึงกระนั้นก็มีสาเหตุที่ซับซ้อนว่า ทำไมคนเราถึงหันไปฟังเพลงเศร้า ๆ เมื่อรู้สึกแย่ เราจะพาคุณมาสำรวจเหตุผลเหล่านี้และทำความเข้าใจกันว่า เมื่อไหร่จะถึงเวลาเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จัดการความเศร้าและหันมาปรับจิตใจให้มีความสดชื่นกัน  

1. ใช้ในการระบายอารมณ์ 

การฟังเพลงเศร้า สามารถทำให้จิตใจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกผ่อนคลาย และใช้ในการระบายอารมณ์ได้ ช่วยทำให้ผู้ที่กำลังเศร้าได้เชื่อมโยงกับความรู้สึกเศร้า ๆ ของตัวเอง และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงและประมวลผลอารมณ์เหล่านั้น ความรู้สึกเศร้า จัดเป็นประสบการณ์ที่ชวนโดดเดี่ยวอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น คนเศร้าที่พบเข้ากับเพลงที่เศร้า เพลงนั้นจะมีพลังอย่างยิ่งในการกระตุ้นอารมณ์ของเรา และช่วยทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง 

2. เนื้อหาที่ทะลุไปถึงหัวใจ

เพลงเศร้ามักจะประกอบด้วยเนื้อเพลงและท่วงทำนองที่สะท้อน สภาวะทางอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความเศร้าสร้อยของผู้ฟัง สิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่กำลังเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง 

3. เพลงเศร้าช่วยกระตุ้นการผลิตสารสื่อประสาท “โดปามีน”  

เพลงเศร้ายังสามารถช่วยกระตุ้นการผลิตสารสื่อประสาทโดปามีนในสมองได้ โดยที่โดปามีนมีความเกี่ยวข้องกับความสุข โดปามีนถือเป็นฮอร์โมน “รู้สึกดี” การที่สมองมีสารเคมีชนิดนี้หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว จะสามารถสร้างความรู้สึกอิ่มเอิบชั่วคราว และช่วยสร้างความสุขได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งช่วยเปลี่ยนอารมณ์ที่ลดต่ำลงได้

4. ช่วยกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนปลอบใจ

การฟังเพลงเศร้าช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน เช่น โปรแลคติน โดยที่โปรแลคตินทำหน้าที่ในการช่วยปรับความรู้สึกเศร้า โดยการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ช่วยขจัดความรู้สึกเศร้าโศกอย่างล้นหลาม โดยการเพิ่มความสงบในใจ และในบางครั้งอาจรวมถึงความสุขด้วย

เมื่อใดที่ควรพิจารณาเปลี่ยนพฤติกรรม หมดเวลาเศร้า

ถึงแม้ว่าการฟังเพลงเศร้าจะมีประโยชน์ในการบำบัดจิตใจ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจว่าเมื่อไหร่ ที่ต้องถึงเวลาทำอย่างอื่นแล้ว

1. ระยะเวลาของความโศกเศร้า 

หากคุณจมอยู่กับความรู้สึกเศร้า เป็นระยะเวลานาน เช่น เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในกรณีนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ

2. ความเศร้ากระทบต่อชีวิตประจำวัน 

เมื่อความเศร้า เริ่มเข้ามารบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งผลกระทบต่องาน ความสัมพันธ์ และการดูแลตัวเอง ถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว หากความเศร้านำไปสู่การแยกตัวจากสังคม ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง ไม่อยากทานอาหาร หรือทานอาหารมากจนเกินไป หรือส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ถือว่าเข้าสู่ขั้นอันตรายแล้ว 

3. ความคิดเชิงลบ ถาโถมเข้ามามากจนเกินไป  

ถ้าความเศร้ามาพร้อมกับความคิดเชิงลบ มาพร้อมการวิจารณ์ตนเองอย่างหนัก หรือมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ มีความเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทันที สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงวิกฤตสุขภาพจิต

4. การสูญเสียความสนใจในกิจกรรม หรือสิ่งที่เคยชอบ

หากความเศร้าทำให้คุณหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำแล้วชอบ สิ่งนี้ก็อาจเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะอาจบ่งบอกถึงภาวะ Anhedonia หรือการไม่สามารถมีความสุขได้ และอาจบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าได้

แนะนำการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ 

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จัก กำลังประสบกับความโศกเศร้าอันแสนสาหัสเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อมาถึงขั้นนี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งแล้ว ที่คุณจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ สามารถให้การประเมินที่เหมาะสม และเสนอวิธีการรักษาหรือการใช้ยาเมื่อจำเป็น

สิ่งดึงดูดใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของดนตรีเศร้าก็คือ ความสามารถในการปลุกความคิดถึง

“ดนตรีเศร้า” จัดเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความทรงจำในอดีตอันทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความทรงจำนั้นเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาสำคัญและมีความหมายในชีวิต Shahram Heshmat นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เขียนใน Psychology Today ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดถึงยังทำให้ผู้ที่กำลังเศร้ามีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างความหวังสำหรับอนาคตได้อีกด้วย 

สรุป การฟังเพลงเศร้าเมื่อรู้สึกแย่ จัดเป็นวิธีที่พบได้ทั่วไปและมักจะดีต่อสุขภาพในการรับมือกับอารมณ์เศร้า อย่างไรก็ตาม การเช็กระยะเวลาและความรุนแรงของความโศกเศร้าก็เป็นสิ่งสำคัญ และแนะนำให้คุณขอความช่วยเหลือ หากความรู้สึกมีความหนักหนาสาหัสหรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และการแสวงหาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสามารถให้การสนับสนุน และนำเสนอกลยุทธ์ที่จำเป็นในการจัดการ และทำให้คุณเอาชนะความโศกเศร้าที่รุนแรงและยาวนานได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส