การนอนเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของเราจะได้พักผ่อน แต่บางคนอาจตื่นนอนมาแล้วปวดหลัง หรือรู้สึกพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ซึ่งท่านอนส่งผลต่อการพักผ่อนของคนเราได้ด้วย ท่าการนอนที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรยุ่งยาก คุณสามารถใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ และปรับท่านอนนิดหน่อยก็ช่วยให้การนอนหลับของคุณดีขึ้นได้แล้ว
ปรับท่านอนหงาย
ท่านอนหงายเป็นท่านอนพื้นฐานก็จริง แต่บางคนนอนท่านี้แล้วก็ยังรู้สึกปวดหลังเมื่อตื่น เหตุผลอาจมาจากการถ่ายเทน้ำหนักบริเวณกระดูกสันหลังไม่เหมาะสมเลยทำให้รู้สึกเมื่อย หรือปวดตอนตื่นได้ เพราะโดยปกติกระดูกสันหลังเราไม่ได้ตรงเป็นแนวเดียวกัน แต่จะมีความโค้ง โดยเฉพาะบริเวณหลังช่วงล่างที่คนมักปวดกัน เวลาที่เรานอนหงาย กล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังอาจถูกกดให้ราบกับที่นอนมากเกินไป
การใช้หมอนหนุนรองใต้เข่าทั้งสองข้างเมื่อคุณนอนหงายจะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังผ่อนคลาย และช่วยให้หลังส่วนล่างโค้งได้แบบเป็นธรรมชาติ ถ้าใครอยากได้การซัปพอร์ตที่เพิ่มขึ้นสามารถใช้เหมือนใบเล็ก หรือผ้าเช็ดตัวม้วนไม่หนามากรองบริเวณหลังล่างอีกที
ปรับท่านอนตะแคง
สำหรับคนที่นอนตะแคง เวลาที่นอนให้งอเข่าทั้งสองข้างเล็กน้อย และใช้หมอนรองคั่นระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยปรับกล้ามเนื้อ และกระดูกบริเวณสันหลัง ขา และสะโพกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และลดการกดทับของกระดูกสันหลัง ช่วยลดความเสี่ยงของอาการเมื่อยล้าหลังตื่นนอนได้
เลือกความสูงของหมอนหนุนให้เหมาะสม
ความสูงของหมอนหนุนส่งผลต่อสรีระการนอนอย่างมาก เพราะหากคุณจะใช้หมอนรองหรือคั่นเข่าแล้ว แต่หมอนหนุนนั้นสูงหรือต่ำเกินไปก็ส่งผลให้สรีระผิดไปจากเดิม และเกิดอาการปวดตามมาได้ หากคุณสังเกตดี ๆ หัวกับคอของเราก็ไม่ได้ตรงดิ่งเช่นเดียวกับกระดูกสันหลัง การเลือกหมอนหนุนส่วนใหญ่เลยควรเลือกให้สูง และโค้งรองรับกับคอเรา โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเงยหน้า หรือรู้สึกว่าน้ำหนักเทไปที่หัวด้านหลังมากเกินไป
การนอนคว่ำเป็นท่านอนที่ไม่แนะนำ
การนอนคว่ำอาจเป็นท่าที่นอนสบายสำหรับบางคน แต่การนอนท่านี้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้ เพราะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากเกินไป และเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ และปวดไหล่ได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดริ้วรอยบนใบหน้าด้วย แต่ถ้าใครลองนอนท่าอื่นแล้วไม่ถนัด ให้ใช้หมอนอีกใบลองบริเวณท้อง และหน้าอกเพื่อปรับสรีระขณะนอนหลับ
เท่านี้ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้แล้ว แต่ถ้านอกจากท่านอนกับหมอนแล้ว ความนุ่มหรือความแข็งของเตียงก็ส่งผลต่อการปวดหลัง และความสบายในการนอนด้วยเหมือนกัน ส่วนใครที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่หายปวดหลัง แนะนำว่าไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะอาการปวดเรื้อรังอาจมาจากปัจจัยอื่น
ที่มา: Mayo Clinic
ภาพปก: The young man lying in a bed
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส