ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) เป็นประเทศในยุโรปที่เราได้ยินชื่อกันไม่ค่อยบ่อยสักเท่าไหร่ ลักเซมเบิร์กนั้นเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป โดยพื้นที่ทั้งประเทศมีเพียง 2,586 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษเทียบเท่ากับจังหวัดมีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร หรือ 3 ใน 5 ส่วนของลักเซมเบิร์กเลย โดยมีประชากรเพียง 5 แสนเกือบ 6 แสนคนเท่านั้น
นอกเหนือจากภาษา วัฒนธรรม และสภาพอากาศ สิ่งที่กรุงเทพฯ แตกต่างกับประเทศลักเซมเบิร์กอย่างมหาศาล คือ ระบบขนส่งมวลชน ประเทศลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่ทุกคนสามารถเดินทางด้วยขนส่งมวลชนโดยไม่ต้องเสียเงินสักเซนต์ (Cent) เดียวมาตั้งแต่ปี 2020 ไม่ว่าจะรถบัส รถไฟ และแทรม (Tram) ในขณะที่เมืองหลวงของเราแสนศิวิไลซ์มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงติดอันดับท็อปของโลกเมื่อเทียบรายได้
อย่างไรก็ตาม บริบทของไทย และลักเซมเบิร์กแตกต่างกันในหลายมิติ แต่เหตุผลอะไร? ที่ทำให้ประเทศขนาดเล็กที่สุดในยุโรปสามารถมอบสวัสดิการให้กับคนในประเทศด้วยการเดินทางไปไหนมาไหนแบบไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
เหตุผลที่ 1: ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่รวยอันดับ 1 ของโลก
ในปี 2023 ประเทศลักเซมเบิร์กได้กลายเป็นประเทศที่รวยที่สุดของโลกเมื่อวัดจาก GDP หรือมูลค่าการผลิตต่อหัวประชากร ซึ่งอยู่ที่ 143,320 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5 ล้านบาท/คน โดยตัวเลขนี้สะท้อนได้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ของประเทศที่สูงมาก
ส่วนอัตราการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลมีตั้งแต่ 0 ถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างการฟรีค่าโดยสารรถสาธารณะ โดยในปี 2023 ลักเซมเบิร์กตั้งงบสำหรับสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีไว้ที่ 30,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน ๆ
เหตุผลที่ 2: แก้ปัญหารถติด
ลักเซมเบิร์กเคยประสบกับปัญหาความหนาแน่นรถบนท้องถนนสูงสุดในยุโรป จากข้อมูลในปี 2020 มีความหนาแน่นของรถอยู่ที่ 696 คัน: 1,000 คน สวัสดิการรถสาธารณะฟรีจึงสามารถช่วยแก้ปัญหารถติดบนท้องถนนที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตของประชากรได้
เหตุผลที่ 3: ลดการปล่อยคาร์บอน
ประเทศชั้นนำของโลกหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งการฟรีค่าโดยสารรถสาธารณะสามารถช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มคาร์บอน อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์จากการใช้รถส่วนตัว โดยรถสาธารณะที่ให้บริการ ไม่ว่าจะรถไฟ หรือรถบัสก็ล้วนเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ในเหตุผลข้อที่ 2 ปัญหาความหนาแน่นของการจราจรยังคงไม่หมดไปจากลักเซมเบิร์ก เพราะรายได้ต่อหัวที่สูง และราคาน้ำมันที่ถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ หรือการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการฟรีค่าโดยสารจึงอาจไม่น่าดึงดูดมากเข้าไปใหญ่เมื่อเทียบกับความเป็นส่วนตัวบนรถ แลกกับค่าใช้จ่ายที่เล็กน้อย กับเวลาที่ใช้ไปกับรถติดอยู่บนท้องถนน
ถึงอย่างนั้นลักเซมเบิร์กยังคงมีแผนพัฒนาขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อกันมากขึ้น โดยคาดหวังว่าคนจะหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส