ปัจจุบันเครื่องมือทางการแพทย์พัฒนาอย่างรวดเร็วมากนะครับ เครื่องมือรุ่นใหม่จะไม่ใช่แค่การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจให้แม่นยำมากขึ้นอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องใช้ง่าย ตรวจได้เร็ว และผลข้างเคียงต่ำ ซึ่งล่าสุดทีมนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ได้คิดค้นแคปซูลตรวจสัญญาณชีพที่เราสามารถกลืนมันให้ลงไปเพื่อให้มันเข้าไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบทางเดินอาหาร
โดยแคปซูลนี้มีขนาดเท่าแคปซูลยาทั่วไป ภายในใส่เซนเซอร์ตรวจวัดสัญญาณชีพเอาไว้ ซึ่งสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลอัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยโรค
หลายคนอาจคิดว่าถ้าแค่ตรวจการหายใจ และอัตราการเต้นก็ใช้สเต็ทโตสโคป (Stethoscope) หรือหูฟังของหมอแทนก็ได้หนิ จริง ๆ ก็ใช้ได้ครับ แต่วิธีนั้นเหมาะสำหรับการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น การใช้แคปซูลจะเป็นการมอนิเตอร์ หรือการเก็บข้อมูลต่อเนื่องในเคสที่แพทย์ต้องใช้สัญญาณชีพเพื่อวินิจฉัย อารมณ์ประมาณว่าจะให้แพทย์มานั่งฟังปอดคนไข้ทั้งวันคงไม่ได้
โดยโรคที่ทีมนักวิจัยได้หยิบเอามาพูดถึงหลัก ๆ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ซึ่งอาการตามชื่อเลย ผู้ป่วยจะหยุดหายใจตอนนอนตั้งแต่ไม่กี่วินาที ไปจนถึงหลายนาที และส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เดิมทีการตรวจภาวะนี้ แพทย์ต้องใช้ Sleep test หรือการตรวจการนอนหลับที่ใช้เครื่องติดตามร่างกาย มีสายระโยงระยาง และต้องนอนแบบนั้นอยู่ 1 คืนเต็ม บางเคสก็ต้องนอนที่โรงพยาบาล ที่นอกจากจะยุ่งยากแล้ว อาจได้ผลที่คลาดเคลื่อน เพราะนอนแปลกที่ หรือรู้สึกไม่สบายตัวจนทำให้นอนไม่หลับ
ตัดภาพมาที่การใช้แคปซูล ที่ผู้ป่วยสามารถกลืนเข้าไปพร้อมน้ำ แล้วก็นอนไปเลย ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่ยุ่งยากอย่างเคย แล้วปล่อยให้แคปซูลที่เคลื่อนผ่านทางเดินอาหารเก็บข้อมูล และส่งสัญญาณมายังคอมพิวเตอร์ที่มีตัวรับสัญญาณเพื่อให้แพทย์นำข้อมูลที่เก็บได้มาวินิจฉัย โดยแคปซูลยังอาจใช้ติดตามการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในช่วงแรกได้ด้วยเพื่อดูว่าการตอบสนองต่อการรักษาเป็นไปในทิศทางไหน
นอกจากนี้ แคปซูลตรวจโรคชิ้นนี้ยังสามารถนำไปเก็บข้อมูลเพื่อวินิจฉัยโรคอื่นได้ด้วย เช่น
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคหืด หรือหอบหืด
- ภาวะได้รับยาโอปิออยด์เกินขนาด
- โรคซึมเศร้า
แคปซูลชิ้นนี้ผ่านการทดสอบในคนจำนวน 10 คนเป็นที่เรียบร้อย และยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียง หรือปัญหาในการใช้งาน โดยการเดินทางของแคปซูลอาจใช้เวลาประมาณวันนิด ๆ หลังจากการกลืนเข้าไป จนสิ้นสุดการเดินทางด้วยการขับถ่ายออกมา
โดยระบบที่เขาใช้ในแคปซูลนี้เรียกว่า Celero Systems ซึ่งเป็นระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของการเต้นของหัวใจ และการขยายตัวของปอดที่พัฒนามาจาก ในแคปซูลจะมีแบตเตอรี่ขนาดเล็กจำนวน 2 ก้อน ระบบเซนเซอร์ ตัวส่งข้อมูล และหุ้มด้วยแคปซูลที่จากวัสดุทางการแพทย์ที่สามารถใช้ภายในร่างกายได้
แคปซูลจิ๋วที่สามารถตรวจสัญญาณชีพจากภายในร่างกายชิ้นนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อ และยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ และการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการใช้งาน หากสำเร็จก็เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยยกระดับการวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจ และปัญหาสุขภาพอีกหลายโรคเลยทีเดียว
ที่มา: Sciencedaily
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส