ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District: SMID) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA (National Intellegence Agency) ที่มีส่วนช่วยผลักดันความฝันของเฮลธ์เทคสตาร์ทอัปสัญชาติไทยให้กลายเป็นจริง

ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวกันของโรงพยาบาล และสถานบริการทางการแพทย์มากมาย ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 7,400 คน นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และนักลงทุน จึงเรียกได้ว่าเป็นย่านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางแพทย์ได้มีโอกาสพัฒนาแนวคิดของตัวเองให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ที่มีเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้วยการเชื่อมต่อกันสถาบันต่าง ๆ มากมาย อย่างโรงพยาบาล คลินิกเอกชน และมหาวิทยาลัย

ซึ่งปัจจุบัน ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกกลายเป็นพื้นที่ที่ในการพัฒนาแอปพลิเคชันด้านสุขภาพมากมาย รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ในบทความนี้จะพาไปดูผลงานสุดเจ๋งจากมันสมองของคนไทยในภาคเหนือกัน

Recovery & Weldery แพลตฟอร์ม

Recovery & Weldery เป็นแพลต์ฟอร์มจากบริษัทชีวาแคร์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคลินิกสมอง และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก โดยออกแบบทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้เพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นแซนด์บ็อกซ์ที่หลายนวัตกรรมได้เกิดขึ้น

Recovery เป็นแพลตฟอร์มการดูแลผู้สูงอายุที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรักษา และเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น กระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาทจะเสื่อมลงส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดังเดิม รวมถึงในเคสที่เกิดการบาดเจ็บ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการบริการร่างกาย และกายภาพบำบัดอยู่เสมอ

แต่เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มคน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้การบริหารร่างกาย หรือการทำกายภาพบำบัดได้ถี่เท่าที่ควร ซึ่งสำคัญมากในการฟื้นตัว อย่างผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่เพิ่งผ่านการรักษา จำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัด 5 ครั้ง/สัปดาห์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการกายภาพเพียง 1 ครั้ง/สัปดาห์เท่านั้น

Recovery จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ดูแล และญาติของผู้ป่วยสามารถทำกายบริการร่างกายให้กับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ในความถี่ที่เหมาะสมเพื่อเสริมการฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และคุณชีวิตของทั้งผู้ป่วย และญาติ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลด้วย

Weldery แอปพลิเคชันดูแลผู้สูงอายุแบบที่เชื่อมต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และญาติเข้าด้วยกันแบบสบายใจไว้ใจได้ เพราะ Weldery เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถบันทึกข้อมูลการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งญาติสามารถเข้าไปดูได้แบบ Real-time ตั้งแต่การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร การทำกายภาพบำบัด ช่วยให้ญาติติดตามการดูแลผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา

หากผู้สูงอายุมีลักษณะบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาบน้ำนาน เกิดแผลกดทับ ผู้ดูแลสามารถบันทึกไปในระบบส่งต่อไปยังแพทย์ที่ดูแล และดำเนินการรักษาต่อไป ซึ่ง Weldery เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องการการพักฟื้นที่มีความล้ำสมัยมากที่สุดแอปพลิเคชันหนึ่งในไทย และสามารถใช้งานได้จริง โดยระบบนี้ศักยภาพที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริการทางการแพทย์รูปแบบอื่นได้อีกมากมาย

FoodPromt (ฟู้ดพร้อม)

นวัตกรรมการผลิตอาหารทางเลือกเพื่อการฟื้นฟูและบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ เป็นผลงานจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย FoodPrompt เป็นแพลตฟอร์มในการผลิตอาหาร ตั้งแต่สูตรอาหาร วัตถุดิบ โภชนาการ และการผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ช่วยออกแบบอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน

เพื่อแก้ Pain point ของผู้สูงวัยที่มักเบื่ออาหาร ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การฟื้นฟูนั้นจะช้าลง และส่งผลต่อสุขภาพได้ โดย FoodPrompt จะผลิตอาหารที่ออกแบบโภชนาการให้เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน รูปแบบส่วนใหญ่จะออกมาเป็นขนมชิ้นเล็ก แต่ให้พลังงาน และสารอาหารสูงช่วยให้ผู้สูงอายุที่เบื่ออาหาร และอยู่ระหว่างการพักฟื้นได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยที่ไม่ต้องรับประทานอาหารมื้อใหญ่ที่ทำให้รู้สึกรับประทานยาก ใช้เวลาในการย่อย และอาจเสี่ยงต่ออาหารติดคอได้

Balance-D เข็มขัดตรวจจับโอกาสล้ม

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และการทรงตัว ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อย่างการหกล้มที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมา เช่น กระดูกหัก การบาดเจ็บที่ศีรษะ และยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต และเสียชีวิตจากการบาดเจ็บได้สูงกว่าคนช่วงวัยอื่น

Balance-D เข็มขัดตรวจจับโอกาสล้มในผู้สูงอายุ

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้คิดค้น Balance-D ที่เป็นนวัตกรรมเครื่องมือในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อประเมินโอกาสในการล้ม เพื่อวางแผนการรับมือกับอุบัติเหตุ โดยอุปกรณ์นี้ใช้เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 แกน ร่วมกับ Machine Learning

เมื่อสวมเข้าไปแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะให้ผู้สวมยืนในท่าทางต่าง ๆ เช่น ยืนขาเดียว หรือโน้มตัวเพื่อประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และลักษณะการทรงตัว เมื่อได้ข้อมูลระบบจะนำไปประมวลผลเพื่อประเมินโอกาสในการหกล้มของผู้สูงอายุ นอกจากการใช้ในผู้สูงอายุแล้ว ยังใช้ในคนที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว อย่างคนที่มีการบาดเจ็บที่ขา และไขสันหลังด้วย

เมื่อประเมินโอกาสในการล้ม ระบบจะนำไปยังหน้าวิธีบริการและออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมดุลร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อลดโอกาสในการล้ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จำเป็นอย่างมากในการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากการล้มในผู้สูงอายุ

อุปกรณ์ช่วยพยุง และช่วยเดิน ‘บุญช่วย’

แม้ชื่อจะไทย แต่นวัตกรรมระดับสากล ‘บุญช่วย’ คือ ชุดอุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายเพื่อฝึกยืนและเดิน สำหรับผู้บกพร่องทางการเคลื่อนไหว ผลจากความร่วมมือกันระหว่างคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกันพัฒนา ซึ่งต่างจากอุปกรณ์ช่วยพยุงและช่วยเดินในตลาดที่ต้องใช้เดินอยู่กับที่บนลู่วิ่ง แต่บุญช่วยสามารถเคลื่อนไปยังจุดต่าง ๆ ช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการบำบัด และฟื้นฟูได้

Smile Migraine

Smile Migraine เป็นแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในปีแรก ๆ ของย่านนวัตกรรมสวนดอก และได้รับการสนับสนุนจาก NIA โดยปัจจุบันเป็นแอปเคพลิชันที่ให้บริการ Telemedicine หรือการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคไมเกรนได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวก เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยไมเกรน ลดการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่จำเป็น และยังมีระบบประเมินอาการปวดไมเกรนที่ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีคลังความรู้เกี่ยวกับโรคไมเกรนในรูปแบบต่าง ๆ ภายในแอปพลิเคชันที่มีหน้าสวยงาม และสามารถใช้งานได้สะดวก โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ทั้งใน iOS และ Android

โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพของผู้คน และหน่วยงานทางภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ตอัปทางด้านการแพทย์เข้ามาดำเนินธุรกิจภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกแล้วกว่า 150 ราย โดยยังคงเปิดรับ และให้บริการสำหรับคนที่มีไอเดียเกี่ยวกับนวัตกรรมทางแพทย์เจ๋ง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจในด้านนวัตกรรมของภูมิภาคเหนือ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในวันที่ 20–21 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เดินทางเพื่อติดตามดูงาน ณ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก โดยได้กล่าวว่า 

“การทำงานของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกมีหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทย

ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันมากขึ้นผ่านหลากหลายโครงการในย่าน รวมถึงช่วยดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการ แพทย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่สนใจในระดับภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งมิติของงานวิจัยทางคลินิก การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่สามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาล”

สำหรับใครที่อยู่ทางภาคเหนือ และมีไอเดีย หรืออยากลงทุนด้านเฮลธ์เทคสตาร์ตอัป ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกถือเป็นแหล่งสำคัญที่คุณจะได้พบกับผู้ที่มีความสนใจแบบเดียวกัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถ ตลอดจนผู้พัฒนาไฟแรงที่จะช่วยสร้างโอกาส และมุมมองใหม่ ๆ ให้กับไอเดียธุรกิจ และการลงทุน

สามารถติดตามย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกได้ที่ https://smid.or.th/home

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส