ช่วงนี้กระแสแพลนต์เบส หรืออาหารจากพืชกำลังมาสุด ๆ เลยนะครับ โดยเฉพาะโปรตีน ทั้งจากกระแสวีแกน และการดูแลสุขภาพที่มองว่าโปรตีนจากสัตว์อาจส่งผลเสียระยะยาวได้ โปรตีนจากพืชที่เราเห็นกันส่วนใหญ่จะมาจากพวกถั่วเหลือง หรือไม่ก็ถั่วเปลือกแข็ง อย่างอัลมอนด์ แต่จริง ๆ แล้ว พืชอย่างสาหร่ายก็มีโปรตีนเหมือนกันนะ

หน้าตาของสาหร่ายที่จะพูดถึงในบทความนี้ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนสาหร่ายแผ่นอย่างที่เราคุ้นตากันนะครับ แต่จะเป็นสาหร่ายเขียว ๆ ใย ๆ เอาจริงก็ดูคล้ายกับตะใคร่น้ำ แต่ว่าคนละชนิด และมีคุณค่าทางสารอาหารสูง และมีงานวิจัยรองรับ

การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าสายพันธ์ของสาหร่ายที่มีขายอยู่ทั่วไป (ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริม) อย่างสไปรูลินา (Spirulina) และคลอเรลลา (Chlorella) เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง และอาจใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ได้ แต่โปรตีนจากพืชจะมีข้อจำกัดที่มักจะถูกนำมาเป็นประเด็นอยู่เสมอ คือ โปรตีนจากพืชมักขาดกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโมเลกุลโปรตีนขนาดเล็กที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อ หลายคนจึงยังเลือกที่จะบริโภคโปรตีนจากสัตว์

แต่การศึกษาจาก University of Exeter พบความเป็นไปได้ว่าโปรตีนและสารอาหารอื่นจากสาหร่ายอาจช่วยชดเชยเรื่องกรดอะมิโนได้ โดยการศึกษาในทดสอบในคนสุขภาพดีจำนวน 36 คนครับ โดยให้คนที่เข้าร่วมการศึกษาออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance training) ด้วยขาเพียง 1 ข้างเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาดื่มเครื่องดื่มที่มีโปรตีนสกัดจำนวน 25 กรัมจากสาหร่ายสไปรูลินา สาหร่ายคลอเรลลา และมัยโคโปรตีน (Mycoprotein) โดยมัยโคโปรตีนเป็นโปรตีนจากเชื้อราที่มีโปรตีน และกรดอะมิโนสูง ชนิดที่เรียกว่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพอีกอย่างนอกจากเนื้อสัตว์เลย

โดยทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือด และกล้ามเนื้อในช่วง 4 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย และหลังการดื่มโปรตีน ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่ดื่มโปรตีนสกัดจากสาหร่ายสไปลูริน่ามีความเข้มข้นของกรดอะมิโนในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูงที่สุดจากโปรตีนทั้งหมด 3 แหล่งที่ใช้ในการทดสอบ

และเพิ่มอัตราการสร้างมัยโอฟิบริลลาร์โปรตีน (Myofibrillar Proteins) ที่จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นโครงสร้างของกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ทั้งในส่วนขา 1 ข้างที่ได้ออกกำลังไป และส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่ได้ออกกำลังด้วย

จากข้อมูลเหล่านี้เลยเป็นไปได้ว่าโปรตีนจากสาหร่ายอาจเป็นอีกหนึ่งโปรตีนทางเลือกที่ดี และมีคุณภาพที่สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ และตอบโจทย์ทั้งสายวีแกน และสายสิ่งแวดล้อมเลย

แต่การศึกษานี้เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่มีการเปรียบเทียบโปรตีนจากสาหร่ายกับมัยโคโปรตีน และเป็นการศึกษาแรกด้วยที่พบคุณสมบัติในการเร่งการสร้างโปรตีนกล้ามเนื้อของสารอาหารจากสาหร่าย ในทางการวิจัยจะต้องมีการศึกษาในแง่มุมอื่นเพิ่มเติมอีกด้วยครับ ว่าเพียงพอที่ใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์เลยรึเปล่า และปลอดภัยที่จะบริโภคในระยะยาวหรือไม่ครับ

โดยทั่วไป สาหร่ายพวกนี้ก็มีสารอาหารสูงอยู่แล้ว อย่างโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ คลอโรฟิลล์ และสารต้านอนุมูลอิสระ คนไทยจะคุ้นในรูปแบบอาหารเสริมเม็ดสีเขียว ในแง่ความปลอดภัย และประโยชน์ก็มีการศึกษามายาวนาน คนทั่วไปสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถใช้ในการป้องกันโรคได้นะครับ หรือว่าถ้าใครมีโรคประจำตัว แนะนำว่าไปคุยกับแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

สุดท้ายนี้ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมอีกสักหน่อย และพบว่าโปรตีนจากสาหร่ายมีคุณสมบัติในการสร้างกล้ามเนื้อ และรักษากล้ามเนื้อได้ใกล้เคียงกับโปรตีนจากสัตว์ เราอาจจะมีแหล่งโปรตีนที่ไม่ต้องเชือดสัตว์ และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ได้ด้วย นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติความเป็นพืชน้ำของสาหร่ายอาจช่วยสร้างออกซิเจน และสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศได้ด้วย

ที่มา: Science Direct

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส