ฉี่หรือปัสสาวะเป็นของเสียจากร่างกายที่มีสีเหลือง เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม หรือบางทีก็ใส แม้จะเป็นของเสียพื้นฐานที่นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์รู้ว่ามันมีส่วนประกอบของอะไรบ้าง แล้วถ้าฉี่มีสีที่เปลี่ยนไปสามารถบอกได้ถึงโรคอะไรบ้าง แต่คำตอบที่แท้จริงว่าทำไมฉี่ถึงเป็นสีเหลืองยังคงปริศนาค้างคาใจบรรดานักวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่องค์ความรู้วิทยาศาสตร์น่าจะไปถึงนานแล้ว จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2024
นักวิทยาศาสตร์ได้พบคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมฉี่ถึงสีเหลือง โดยเขาพบว่าเป็นผลมาจากเอนไซม์ที่ชื่อบิลิรูบินรีดักเตส (Bilirubin Reductase) ที่ถูกผลิตจากแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจเพียงว่าสีเหลืองจากฉี่เป็นผลมาจากการกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงเมื่อเซลล์หมดอายุขัย และนำไปกำจัดผ่านไต และทำให้เกิดสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่มีส้มเหลืองขึ้น และส่งไปยังลำไส้ที่มีแบคทีเรียอยู่ หลังจากนั้นแบคทีเรียในลำไส้จะย่อยสลายสารนี้จนกลายเป็นสารสีเหลืองที่ทำให้ฉี่ของเรากลายเป็นสีเหลือง ชื่อว่า ยูโรบิลิน (Urobilin)
ถึงอย่างนั้น ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ที่ทำหน้าที่แยกสารสีเหลืองนี้ออกมาก็ยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การค้นพบเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งประตูสำคัญที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายมากขึ้น และช่วยสร้างองค์ความรู้สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย อย่างความสัมพันธ์ของฉี่ ไต ลำไส้ แบคทีเรียในลำไส้ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ อย่างโรคดีซ่านที่ทำให้เกิดผู้ป่วยตัวเหลือง ตาเหลือง รวมถึงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบแบคทีเรียในลำไส้ของผู้ใหญ่สุขภาพดีจำนวน 1,801 คน เพื่อหายีนแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสีในฉี่ และพบว่า 99.9 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าร่วมการศึกษานี้มีแบคทีเรียในลำไส้ที่ทำให้เกิดสีเหลืองในฉี่ เลยยืนยันได้ว่าที่ฉี่ของเราเป็นสีเหลือง ส่วนหนึ่งนั้นมีกลไกมาจากการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้
ส่วนคนที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และเด็กทารกที่มีอาการดีซ่านจำนวนหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พบว่าร่างกายขาดยีนของแบคทีเรียที่จะช่วยเปลี่ยนสารบิลิรูบินให้กลายเป็นสารสีเหลือง และขับออกมากับฉี่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านั้นขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือนักวิทยาศาสตร์พบอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้ฉี่กลายเป็นสีเหลือง คือ เอนไซม์ที่เกิดจากแบคทีเรียภายในลำไส้ในกลุ่ม Firmicutes แต่ยังไม่รู้สายพันธุ์เฉพาะที่มีส่วนในการแยกสารสีเหลืองออกจากสารบิลิรูบิน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ช่วยให้พบปัจจัยของอาการป่วยของโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ และระบบขับถ่าย
ที่มา: Livescience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส