การติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อผลกระทบในเชิงสังคม และคุณภาพชีวิตด้วย เพราะคนทั่วโลกมีภาพจำเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีในแง่ลบอย่างมาก การรับรู้เรื่องเอชไอวี และโรคเอดส์ในไทย และในหลายประเทศทั่วโลกยังถือว่าอยู่ในวงจำกัด และยังมีการตีตรา แบ่งแยก และเลือกปฏิบัติอยู่ไม่น้อย
ทั้งที่ในปัจจุบัน เรามียาที่สามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีทั้งก่อน (PrEP) และหลังสัมผัส (PEP) รวมไปถึงยาต้านไวรัสที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ ซึ่งสามารถยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ ยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีสู่คนอื่นได้ และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไปที่ไม่มีเชื้อนี้ในร่างกาย
แต่การติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ และปัญหาการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มีเชื้ออาจกำลังจบลง พร้อมกับการแพร่กระจายของเชื้อในอีกไม่กี่ปีข้างนี้แล้ว
ในปี 2022 ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 1.3 ล้านราย ซึ่งน้อยกว่าช่วงการแพร่ระบาดสูงที่สุดในปี 1995 ถึง 59 เปอร์เซ็นต์สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นขององค์ความรู้ทางการแพทย์ในการจัดการกับเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ แต่ถึงยังนั้นเชื้อเอชไอวียังถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุขของโลก
โดยในปี 2023 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชนหรือ UN ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อลดอัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และลดจำนวนของผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ในแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าหากเป้าหมายนี้สำเร็จ ในปี 2033 จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพียง 200,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 130,000 คนทั่วโลก โดยอาจเป็นการปิดฉากสงครามระหว่างโรคเอดส์ และมวลมนุษยชาติที่ยาวนานหลายสิบปีลง
การจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จต้องอาศัยทั้งการป้องกันด้วยวัคซีน และการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ยาป้องกันเอชไอวี และยาต้านไวรัสเอชไอวี (Antiretroviral Therapy) ที่สามารถเข้าถึงได้ในหลายพื้นที่ และจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลในการป้องกัน และผลในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยาคาโบเทกราเวียร์ (Cabotegravir) ยาป้องกันเชื้อเอชไอวีชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกคิดค้นในปี 2022 ที่ใช้ฉีดทุก 2 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงกว่ายาป้องกันชนิดเม็ด แต่เชื้อว่าการพัฒนายาอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงยานี้ได้
และอีกหนึ่งความท้าทายในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือ กลุ่มเด็กที่ได้รับเชื้อจากพ่อหรือแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนราว 1.5 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทั่วโลกยังขาดองค์ความรู้ด้านโรคเอดส์ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขได้ อย่างคนยากไร้ในพื้นที่ห่างไกล
โครงการร่วมเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือ UNAIDS ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ด้วยแนวคิด 95-95-95 ภายในปี 2028 ซึ่งหมายถึง
- 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีเชื้อรู้สถานะการติดเชื้อของตัวเอง
- 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง
- 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาสามารถลดการแพร่เชื้อได้
ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนในการตรวจ และรักษาให้ครอบคลุมคนชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ และรักษาที่เหมาะสม และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งยา วัคซีน การตรวจ และการรักษาอื่น รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ แม้คนยากไร้ แน่นอนว่าต้องอาศัยเงินในการลงทุนจำนวนมหาศาล
อย่างประเทศในแอฟริกาใต้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรที่มีเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในโลกถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และสัดส่วนกว่า 72 เปอร์เซ็นต์มาจากโรคเอดส์ แต่ในปัจจุบัน หลายประเทศในแอฟริกาใต้ อย่างบอตสวานา สวาซิแลนด์ รวันดา ซิมบับเว และแทนซาเนียเริ่มได้รับองค์ความรู้ และบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเอดส์มากขึ้น
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ และแพทย์เข้าใจกลไกของเอชไอวี และโรคเอดส์มากขึ้น ซึ่งช่วยพัฒนาวิธีรักษา และวิธีป้องกันได้อย่างก้าวกระโดดภายในเวลาไม่กี่สิบปีเท่านั้น จากโรคที่น่ากลัวที่สุดโรคหนึ่งที่โลกเคยเผชิญมากลายเป็นโรคที่ควบคุม และป้องกันได้ ในฐานะของประชาชนที่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างสะดวก อย่าลืมที่จะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หรือหากมีไลฟ์สไตล์เสี่ยงสามารถปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้
ที่มา: Livescience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส