ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ และมหาวิทยาลัยลีดส์ได้ร่วมกันสร้างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการอ่านภาพ 3 มิติของลิ้นมนุษย์เพื่อระบุลักษณะของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งลิ้นของคนเราจะมีปุ่มลิ้น (Papillae) ขนาดเล็กจำนวนหลายพันปุ่มที่ช่วยในการลิ้มรส การสัมผัส การพูด และการกลืน ซึ่งปุ่มลิ้นนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ปุ่มลิ้นรูปด้าย รูปเห็ด และรูปใบไม้ เป็นต้น
โดยทีมนักวิจัยได้นำแบบจำลองของลิ้นจากอาสาสมัครจำนวน 15 คนในรูปแบบของพิมพ์ซิลิโคนเพื่อฝึก AI ตัวนี้ และป้อนข้อมูลลักษณะของปุ่มลิ้นจำนวน 2,000 รูปแบบจากอาสาสมัครทั้ง 15 คน ซึ่ง AI สามารถระบุลักษณะของปุ่มลิ้นได้แม่นยำถึง 85 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงสามารถระบุตำแหน่งของปุ่มลิ้นแต่ละรูปแบบบนแบบจำลองของลิ้นได้ด้วย
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจที่ทีมนักวิจัยพบในการฝึก AI ตัวนี้ คือ ลักษณะลิ้น และปุ่มลิ้นของอาสาสมัครทั้ง 15 คนมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน และ AI สามารถยังสามารถระบุตัวตนของอาสามารถได้แม่นยำถึง 48 เปอร์เซ็นต์จากข้อมูลของปุ่มลิ้นเพียงปุ่มเดียว ซึ่งหนึ่งในทีมนักวิจัยได้บอกว่าการทดลองนี้ทำให้มนุษย์เข้าใจความซับซ้อน และเฉพาะตัวของโครงสร้างทางชีววิทยา และพื้นผิวของลิ้นมนุษย์มากยิ่งขึ้น
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจนำไปพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการตรวจ และวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจสอบหาการเปลี่ยนแปลง หรือการเติบโตที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อปุ่มลิ้น และอาจนำไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการระบุอัตลักษณ์บุคคลได้คล้ายกับลายนิ้วมือ
ที่มา: Livescience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส