ทุกเหตุการณ์และเรื่องราวในวัยเด็ก ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อจิตใต้สำนึก และส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเราได้แบบไม่รู้ตัว บางคนอาจจะเลือกที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่นำไปสู่เหตุการณ์เหล่านั้น แต่บางคนก็อาจเผลอซึมซับ และทำพฤติกรรมที่ตัวเองไม่ชอบแบบไม่รู้ตัว
- ความบอบช้ำทางจิตใจในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ในยามที่โตขึ้นได้หลายระดับ
- บาดแผลในวัยเด็กสามารถส่งผลกระทบได้ ทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย และความรู้ความเข้าใจ
- การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทางจิตมากกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความผิดปกติทางบุคลิกภาพมากกว่าถึง 15 เท่า
- ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ (ACES) อาจส่งผลเสียต่อทักษะความสัมพันธ์และการทำงานของสมอง
ผู้ที่มีปมในวัยเด็กมีความเสี่ยงสูง ที่จะมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่
ผู้ที่มีประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก (ACES) อาจพบกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในการพบกับภาวะทางจิตที่ย่ำแย่ เช่น มีความวิตกกังวล มีอาการซึมเศร้า และมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
อย่าให้สิ่งใดมาทำร้ายคุณอีกเลย มาฮีลใจเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ยังคงแอบซ่อนอยู่ในใจของคุณกันดีกว่า
ถึงแม้ว่าปมปัญหาในวัยเด็กอาจจะยังคงฝังรากลึกอยู่ในใจในวันที่คุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งนี้อาจจะทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิด เศร้าใจหดหู่กับชีวิตไปบ้าง แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ อาจจะใช้ความพยายามสักหน่อยอาจจะใช้เวลานานไปสักนิด แต่เราเชื่อว่า คุณจะสามารถทลายบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในใจไปได้อย่างแน่นอน
ยอมรับความเจ็บปวด และมอบความเห็นอกเห็นใจให้กับตัวเอง
ก่อนอื่นให้คุณโอบกอดและยอมรับความเจ็บปวดนั้น และทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความเมตตา หยุดกล่าวโทษตัวเอง และพยายามมองว่า “ฉันจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ยังไง”
จดบันทึก เขียนระบายความรู้สึกและประสบการณ์ของคุณลงในสมุดบันทึกส่วนตัว วิธีนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และจะทำให้คุณเห็นภาพชัดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องแก้ไข หรือหลีกเลี่ยงสิ่งนี้อย่างไร
ฝึกสติและการทำสมาธิ
คุณอาจจะไม่ต้องนั่งสมาธิเป็นกิจจะลักษณะก็ได้ แต่ขอให้โฟกัสจดจ่ออยู่กับลมหายใจในช่วงขณะในขณะหนึ่ง หายใจเข้าลึก ๆหายใจออกช้า ๆ สิ่งนี้จะช่วยทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย มีสติอยู่กับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ให้อภัยไม่ได้ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาจิตใจไม่จมอยู่กับมัน หลาย ๆ คนแม้เรื่องราวจะผ่านมาเป็น 10 ปี แต่เรื่องที่ยังทำใจไม่ได้ก็คือยังทำใจไม่ได้ ให้อภัยไม่ได้ก็ยังไม่ต้องให้ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องนำจิตของคุณไปจับอยู่ที่ปัญหา ความรู้สึก หรือบุคคลที่ทำให้คุณรู้สึกแย่
ไม่จำเป็นต้องให้อภัยเขาก็ได้ถ้าใจของคุณยังไม่พร้อม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไปเคียดแค้น หรือใส่พลังไปให้กับคนที่คุณเกลียด เอาเวลาอันมีค่าของคุณมาโฟกัสสิ่งดี ๆ คนดี ๆ และความสุขในชีวิตดีกว่า
การเยียวยาเด็กน้อยในตัวคุณอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ซึ่งสิ่งนี้คือ “การฝึก” วันนี้คุณอาจยังไม่เก่ง แต่ถ้าคุณฝึกไปวันละเล็กละน้อยเราเชื่อว่าคุณจะเก่งขึ้น แกร่งขึ้นและสามารถเยียวยาหัวใจของตนเองให้โฟกัสจิตอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น และได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ
ที่มา: https://www.newportinstitute.com/resources/treatment/childhood-trauma/
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส