ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอุลซาน (Ulsan National Institute of Science and Technology) ประเทศเกาหลีใต้ได้คิดค้นนาโนโดรนหรือตัวนำส่งยาเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ในโรคมะเร็งชนิดที่รักษายาก
การรักษาแบบมุ่งเป้าเป็นการรักษาโรคมะเร็งที่มีการใช้งานมาแล้วหลายปี แนวคิดหลัก คือ การส่งยาให้เข้าไปทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันเซลล์ปกติที่อยู่รอบ ๆ เสียหาย ซึ่งการรักษาแบบเก่าอย่างการใช้ยาเคมีแบบดั้งเดิม หรือการฉายแสงอาจส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียง และทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากกว่า
การรักษาแบบมุ่งเป้าจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาอื่นในปัจจุบัน แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการรักษา เช่น ชนิดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง
ทีมนักวิจัยได้ทดสอบการใช้เซลล์นักฆ่า หรือเซลล์ NK (Natural killer) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ผลิตจากต่อมน้ำเหลืองในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์แปลกปลอมสมกับชื่อที่ถูกตั้ง ซึ่งรวมถึงเซลล์มะเร็ง จับเข้ากับนวัตกรรมนาโนโดรนด้วยเทคนิคการใช้อนุภาคโปรตีนขนาดเล็ก โดยตั้งชื่อนวัตกรรมการรักษานี้ว่า NKeNDs
ทีมนักวิจัยได้ทดสอบส่ง NKeNDs ภายในหลอดทดลองเพื่อดูผลลัพธ์ นวัตกรรมดังกล่าวจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ NK เมื่อพบเซลล์มะเร็งที่กำหนด ซึ่งเซลล์ NK สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งที่อยู่ในหลอดทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบนวัตกรรมนี้ในหนูทดลองที่มีเนื้องอก ซึ่ง NKeNDs สามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง ช่วยยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก โดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียง
การคิดค้นครั้งนี้จึงเป็นหนึ่งความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งช่วยรักษาโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยจำเป็นต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ประสิทธิภาพที่แตกต่างกันในโรคมะเร็งแต่ละชนิด และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างในผู้ป่วยแต่ละคน
ที่มา: Sciencedirect
ภาพปก: Sick man sitting on chair medium shot
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส