ความรักเป็นอารมณ์ และความสัมพันธ์ที่มนุษย์จำนวนมากต่างแสวงหา ซึ่งการมีความรักได้มอบประสบการณ์แห่งความสุขที่มาพร้อมกับโดปามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่หลั่งออกมาอย่างมหาศาล และช่วยในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และบางครั้งความสุขจากความรักก็ทำให้สมองของเราเสพติด ซึ่งส่งผลให้เมื่อถึงต้องลาจากกัน ทำให้รู้สึกใจสลาย เศร้าสร้อย คิดถึง และไม่สามารถลืมได้
การศึกษาในสัตว์ทดลองล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดพบว่าความรักนั้นสร้างร่องรอยทางชีววิทยาบางอย่างเอาไว้ในบริเวณสมองส่วนกลาง สัตว์ทดลองชนิดนี้เป็นสัตว์ฟันแทะเลี้ยงลูกด้วยนมที่ชื่อว่า Prairie Vole หรือก็คือหนูชนิดหนึ่ง แต่หนูชนิดนี้มีพฤติกรรม และโครงสร้างทางสังคมคล้ายกับมนุษย์ อย่างการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ผัวเดียวเมียเดียว และเกิดภาวะทางอารมณ์เมื่อต้องสูญเสียสมาชิกในฝูง
เขาพบว่าการที่หนูคู่รักได้อยู่ด้วยกัน และสมองหลั่งโดปามีนจำนวนมากออกมา และสร้างรอยประทับบางอย่างไว้ในสมอง ซึ่งช่วยในสัตว์ที่เป็นคู่รักรู้สึกผูกพันต่อกัน ในการศึกษาเขาได้ทดสอบด้วยการตรวจจับสัญญาณสมองของสัตว์ตัวผู้ และตัวเมียด้วยเซนเซอร์ที่แสดงออกมาเป็นภาพจำลองสมองแบบเรียลไทม์วินาทีต่อวินาที ในสมองส่วนที่เรียกว่า Nucleus Accumben ที่มีหน้าที่กระตุ้นสมองให้ตอบสนองต่อความปรารถนา และการแสวงหาความสุข เช่น น้ำ อาหาร ความปลอดภัย ยาเสพติด และแน่นอนว่ารวมถึงความรักจากคนรักด้วย
จากนั้นเขาได้แยกสัตว์ฟันแทะที่เป็นคู่รักกันออกไปยังจุดต่าง ๆ ที่สัตว์ ตัวผู้และตัวเมียต้องผ่านกลไกบางอย่างเพื่อมาพบกัน เมื่อหนูตัวผู้กดคันโยกจะเผยให้เห็นหนูตัวเมียที่อยู่อีกฝั่ง และเมื่อหนูได้เห็นอีกฝ่าย สมองจะหลั่งโดปามีนออกมามหาศาล พร้อมแสงสว่างวาบบริเวณสมองส่วน Nucleus Accumben แต่ถ้าครั้งไหนที่หนูกดคันโยกแล้วไม่เห็นคู่ของมัน แสงสว่างนั้นจะหรี่ลง
นักวิจัยยังบอกด้วยว่าแม้โดปามีนเป็นสารในสมองที่หลั่งเวลาเรามีความสุข แต่เมื่อได้อยู่ใกล้กับคนรัก โดปามีนหลั่งผ่านสมองส่วน Nucleus Accumben และทำให้เกิดความปรารถนาได้มากกว่าการอยู่กับคนแปลกหน้า ซึ่งในการศึกษาในมนุษย์ก็เคยพบว่าภาพสมองส่วนนี้จะสว่างมากขึ้นเมื่อมนุษย์ที่เป็นคู่รักได้จับมือกัน
การทดลองอีกชิ้นได้แยกหนูคู่รักออกด้วยเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์ ซึ่งนับว่ายาวนานเกือบชั่วชีวิตของหนูชนิดนี้ และเขาก็พบว่าพวกมันสามารถจำกันได้ แต่ไม่ได้เกิดการหลั่งโดปามีนแบบเดิมแล้ว นักวิจัยคาดว่าเป็นกลไกของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้พวกมันได้จับคู่ใหม่ และมีชีวิตต่อไป
จากข้อมูลอาจเป็นไปได้ที่สมองของมนุษย์ และหนูทดลองชนิดนี้อาจมีรูปแบบในการรับมือกับความผิดหวังในความรักที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพักเพื่อทำให้ร่องรอยนี้หายไป
การศึกษานี้อาจเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจสมองของมนุษย์ เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางอารมณ์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ซับซ้อนกว่าสัตว์อื่น อย่างการช่วยเหลือคนอกหัก การบำบัดคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่นักวิจัยก็ได้บอกว่าสมองของหนูชนิดนี้ กับมนุษย์นั้นแตกต่างกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ที่มา: Sciencedaily
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส