การกอดเป็นรูปแบบการแสดงความรักที่เป็นสากลมากวิธีหนึ่งที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน คุณก็สามารถกอดได้ ตั้งแต่คนรู้จัก เพื่อน คนรัก หรือครอบครัว ซึ่งในช่วงเวลาที่คนเรากอดกัน และเกิดสัมผัสทางร่างกาย สมอง และร่างกายของเราจะเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นพบว่าการกอดกันส่งผลดี ทั้งกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของผู้คนด้วย

ในบทความนี้จะพาคุณไปเปิดโลกประโยชน์ของการกอดที่ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสุขภาพ และความสัมพันธ์ด้วย

วิทยาศาสตร์ของการกอด

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอาศัยความแน่นแฟ้นในความสัมผัสเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งการกอดเป็นหนึ่งในวิธีที่มนุษย์สร้างความแข็งแรงของความสัมพันธ์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าที่สุดที่ยืนยันว่ามนุษย์มีการกอดกัน คือ เมื่อ 6,000 ปีก่อน แต่เชื่อกันว่าการกอดเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่กว่านั้น

The Lover of Valdaro: โครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในลักษณะกอดกันที่เก่าแก่ที่สุดขุดค้นพบในอิตาลี

ในช่วงเวลาที่เรากอด หรือถูกกอด ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า ‘ออกซิโทซิน’ (Oxytocin) หรือรู้จักกันในชื่อสุดโรแมนติกว่าฮอร์โมนแห่งความรักออกมา

ออกซิโทซินทำหน้าที่สำคัญในการสร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างแม่กับลูก คนรักกับคนรัก หรือเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง ช่วยให้ความรู้สึกที่ดี และช่วยลดระดับความเครียด

เหตุผลอาจพออธิบายได้ว่าทำไมช่วงเวลาแห่งการกอด ถึงทำให้มนุษย์รู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย และรู้สึกเป็นที่รักจนล้นออกมา แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม ซึ่งกลไกที่เกิดขึ้นระหว่างการกอดยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ และสุขภาพด้วย

ประโยชน์ของการกอดกับสุขภาพจิต และความสัมพันธ์

ออกซิโทซินที่เกิดจากการกอดสามารถช่วยปรับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้น ลดความรู้สึกเศร้าหรือหดหู่ และลดการหลั่งของฮอร์โมนความเครียด อย่างคอร์ติซอลลงได้ ช่วยให้สมองรู้สึกปลอดโปร่ง และผ่อนคลายมากขึ้น โดยการกอดยังช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ด้วย

ความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือความเหงาดูเหมือนจะเป็นภาวะชั่วคราว แต่จริง ๆ แล้วสามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง และส่งผลต่อสภาพจิตใจ และอารมณ์ของคนเราได้ เช่น ความเครียด ขาดความเชื่อถือในตัวเอง ความรู้สึกไร้จุดหมาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ อย่างภาวะวิตกกังวล และโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งการกอดสามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และอาจลดความเสี่ยงของภาวะอารมณ์ด้านลบที่ตามมาได้

ในทางการศึกษาพบว่าแม้แต่การกอดตัวเองในช่วงเวลาที่หดหู่อาจช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ลดความเครียด และช่วยปลอบประโลมจิตใจของเราได้

นอกจากนี้ การกอดยังช่วยเพิ่มความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างสองฝ่ายได้อีกด้วย ซึ่งความผูกพันทางอารมณ์อาจไม่ได้จำกัดแค่ความรักเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสายใย ความเข้าอกเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกปลอดภัย และมั่นคงเมื่ออยู่ด้วย โดยความผูกพันทางอารมณ์ยังส่งผลต่อการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) ด้วย

ประโยชน์ของการกอดกับสุขภาพกาย

คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียดที่ส่งผลต่อระบบหลอดเลือด และหัวใจ อย่างเพิ่มระดับความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ฮอร์โมนตัวนี้ยังสัมพันธ์กับการอักเสบ และเสื่อมของเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย เช่น สมอง ภูมิคุ้มกัน ลำไส้ ผิวหนัง และอีกหลายระบบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลายชนิด

ซึ่งฮอร์โมนแห่งความรัก อย่างออกซิโทซิน รวมถึงฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องอารมณ์ อย่างโดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่หลั่งออกมาในช่วงเวลาแห่งการกอดที่ให้เกิดความสุข อาจช่วยลดระดับของคอร์ติซอลภายในร่างกาย ลดหรือชะลอผลกระทบจากความเครียดได้ อย่างปรับอัตราการเต้นหัวใจให้ปกติ ลดระดับความดันโลหิต หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเครียด

นอกจากนี้ ข้อมูลบางส่วนชี้ว่าสารเคมีที่เกิดจากการกอดอาจส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน และการนอนหลับด้วย

เทคนิคการกอดให้อุ่นใจ และรู้สึกดีกว่าเดิม

ใคร ๆ ก็คงกอดเป็นกัน แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนพบวิธีช่วยเพิ่มคุณภาพในการกอดได้ ซึ่งคุณสามารถนำวิธีต่อไปนี้ไปใช้ได้

  • กอดขั้นต่ำ 5 วินาที และสูงสุดที่ 20 วินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการทดสอบว่าช่วยสร้างความรู้สึกดีมากกว่าการกอดทักทายแค่ไม่กี่วินาที
  • กอดให้แน่นกว่าเดิม และเพิ่มจังหวะในการกอดให้มีช่วงผ่อน และช่วงแน่นสร้างความรู้สึกได้ดีมากกว่า
  • หาโอกาสกอดให้บ่อยขึ้นเพื่อแสดงความรัก สร้างความผ่อนคลาย และความผูกพัน
  • ถามก่อนกอดเสมอ การกอดในสังคมไทยมักใช้กับคนใกล้ชิดมากกว่า หากต้องการกอดคนรู้จัก หรือไม่ได้สนิทมาก หรือแม้แต่คนใกล้ตัวที่อาจไม่ได้อยู่ในความรู้สึกที่พร้อมกอด ควรถามก่อนกอดเสมอ
  • เปลี่ยนรูปแบบการกอดให้หลากหลายขึ้น เช่น การกอดจากด้านหลัง การกอดจากด้านข้าง การกอดเอว ซึ่งการกอดแต่ละรูปแบบให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไป และสามารถเลือกใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการกอดได้มากขึ้น และเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์
  • ดูแลตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของความสะอาด และกลิ่น คุณคงไม่อยากให้คนที่ถูกกอดรู้สึกแย่ลง หรือรู้สึกดีได้ไม่เต็มที่จากกลิ่นไม่พึงประสงค์

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองร้อน และการกอดอาจดูเป็นสิ่งที่ถึงเนื้อถึงตัว หลายคนเลยอาจรู้สึกแปลก ๆ แต่หากลองปรับมายด์เซตว่าสิ่งนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกของความสัมพันธ์ที่ดี อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการกอด และช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากการกอดได้มากขึ้น

ที่มา: 1, 2, 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส