ในปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากพบว่าการออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ และสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ ไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบไหนก็ตาม ทั้งการยกเวท บอดี้เวทเทรนนิง คาร์ดิโอ กีฬา และโยคะ
แต่การออกกำลังกายก็เหมือนรสนิยมในการฟังเพลง ถ้าคนไหนชอบการออกกำลังกายแบบไหนก็มักจะออกกำลังกายแค่รูปแบบเดียว อย่างคนชอบวิ่งก็จะวิ่งเยอะมาก ถ้าคนยกเวทก็จะเน้นการยกอย่างเดียวอาจเพราะมาจากความชอบ และเวลาที่จำกัดจึงทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอต่อในการออกกำลังกายหลายรูปแบบ
แต่การศึกษาล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาพบว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ หรือแอโรบิก อย่างการวิ่ง หรือปั่นจักรยาน ร่วมกับการออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance training) อย่างบอดี้เวทเทรนนิง การยกน้ำหนักควบคู่กันสามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้มากกว่าการออกกำลังกายแค่รูปแบบใดรูปหนึ่ง
ในสหรัฐฯ จำนวน 1 ใน 3 ของคนเสียชีวิตมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ซึ่งการศึกษานี้เป็นการศึกษาที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ปีเพื่อหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม และสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดหัวใจและหลอดเลือดที่ได้ผล
การศึกษาชิ้นนี้ทำโดยมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตต ศึกษาในคน 406 คนที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 70 ปี ผู้เข้าร่วมทุกคนมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือไม่ก็เป็นโรคอ้วน ร่วมกันมีภาวะความดันโลหิตสูง ทีมนักวิจัยได้แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 4 กลุ่ม 1) คนที่ไม่ออกกำลังกาย 2) คนที่คาร์ดิโออย่างเดียว 3) คนที่ออกกำลังกายแรงต้านอย่างเดียว และ 4) คนที่ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ และแบบแรงต้านร่วมกัน คนทุกกลุ่มจะต้องสวมเครื่องนับก้าวเดิน
ทั้ง 3 กลุ่มที่ออกกำลังกายจะถูกติดตามการออกกำลังกายด้วยผู้เชี่ยวชาญ 3 ครั้ง/สัปดาห์ 1 ชั่วโมง/ครั้งตลอดระยะเวลา 1 ปี ทีมนักวิจัยได้กำหนดรูปแบบการออกกำลังกาย ความเข้มข้น และระยะเวลาให้กับผู้เข้าร่วมตามลักษณะของแต่ละบุคคล อย่างคนที่ออกกำลังกายแบบแรงต้าน ทีมนักวิจัยจะกำหนดความหนักของน้ำหนักที่ยก จำนวนครั้ง จำนวนเซต ส่วนคนที่คาร์ดิโอ ทีมนักวิจัยจะป้อนความเข้มข้น อย่างความชัน ความเร็ว และระยะเวลาเข้าไปในลู่วิ่งไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นจักรยานไฟฟ้า ร่วมกับการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังติดตามอาหารของผู้เข้าร่วมการศึกษาด้วย และพบกับนักโภชนาการทุก 3 เดือนเพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกรับประทานเพื่อควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โดยทีมนักวิจัยได้วัดระดับความดันโลหิต ไขมันชนิดไม่ดีในเลือด น้ำตาลในเลือด และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายของผู้เข้าร่วมในช่วงเริ่มการศึกษา หลังผ่านไป 6 เดือน และช่วงสุดท้าย ซึ่งข้อมูลสุขภาพเหล่านี้สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคหัวใจ
ในการสรุปการผลศึกษา เปอร์เซ็นต์ไขมันถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับผลลัพธ์การศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่ากลุ่มผู้เข้าร่วม 3 กลุ่มที่ออกกำลังกายมีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายลดลง
โดยทุก 1 เปอร์เซ็นต์ของไขมันที่หายไปสัมพันธ์กับความระดับความดันโลหิตลง 3 เปอร์เซ็นต์ ไขมันในเลือดลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ และความเสี่ยงของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (ปัญหาการเผาผลาญที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง) ลดลง 8 เปอร์เซ็นต์
ทั้งหมดนี้หมายถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลง ซึ่งกลุ่มที่ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอและแบบแรงต้านควบคู่กันมีระดับความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ออกกำลังกายเพียงรูปแบบเดียว
ทีมนักวิจัยจึงสรุปได้ว่าการออกกำลังกายทุกรูปแบบที่มีความต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดได้ และการออกกำลังกายแบบผสมผสานมีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้สูงกว่า ซึ่งระดับที่เหมาะสมในการออกกำลังกายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 150 นาที/สัปดาห์ในระดับความเข้มข้นปานกลาง และควรออกกำลังกายแบบแรงต้าน อย่างบอดี้เวทเทรนนิง และการยกเวท อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอ้วน หุ่นดี หรือผอม และอยากลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด การวางแผนการออกกำลังกายให้หลากหลายมากขึ้น มีทั้งการคาร์ดิโอ และการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อเป็นวิธีที่น่าสนใจ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหัวใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรศึกษาเรื่องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อประโยชน์สูงสุด
ที่มา: Sciencedaily
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส