โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อที่อันตราย และยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย ซึ่งต้องอาศัยการเข้ารับวัคซีนอย่างเร่งด่วนหลังโดนกัด หรือคาดว่าได้รับเชื้อ แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าราว 60,000 คนทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเอเชีย และแอฟริกา และเกิดจากการถูกน้องหมากัดเกือบทั้งหมด (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นก็มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้)

อย่างในบ้านเราจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยมาฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้น้องหมาจรอยู่เรื่อย ๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หน่วยงาน หรือชาวบ้านเองก็จำไม่ได้ว่าน้องหมาตัวไหนฉีดแล้วบ้าง หรือยังไม่ฉีด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตทเลยได้พัฒนาแอปพลิเคชันจดจำใบหน้าน้องหมาเพื่อใช้ในการระบุว่าน้องหมาตัวไหนฉีดวัคซีนแล้ว หรือยังไม่ฉีดวัคซีนบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในแถบเอเชีย และแอฟริกา

ซึ่งหากใช้วิธีฝังไมโครชิปให้กับน้องหมาทุกตัว ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เพราะการจะควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในแต่ละพื้นที่ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับน้องหมาในพื้นที่อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์

โดยทีมนักวิจัยได้พัฒนาแอปพลิเคชันนี้แล้วได้ทดลองใช้ในพื้นที่ชนบทของประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา และพบว่าระบบของแอปพลิเคชันนี้มีความแม่นยำสูง เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนได้ใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อสแกนใบหน้าของน้องหมาพบว่าสามารถระบุน้องหมาที่ได้รับวัคซีนแล้ว 76.2 เปอร์เซ็นต์ และระบุน้องหมาที่ไม่ได้รับวัคซีนได้ 98.9 เปอร์เซ็นต์

กลไกในการจดจำใบหน้าน้องหมา

นักพัฒนาได้เก็บภาพ และข้อมูลองค์ประกอบสำคัญบนใบหน้าของน้องหมาไว้ในฐานข้อมูล รวมถึงข้อมูลอื่น อย่างอายุ สี และเพศ เมื่อเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนลงพื้นที่แล้วสแกนใบหน้าน้องหมา อัลกอรึทึมประมวลผลหาฐานข้อมูลน้องหมาที่ใกล้เคียงที่สุด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ยืนยันอีกครั้งว่าน้องใช่ตัวเดียวกันหรือไม่

ทีมนักพัฒนามีแผนเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบใบหน้าของน้องหมาด้วยการเปลี่ยนไปใช้สมาร์ตโฟนที่มีกล้องคุณภาพสูงเพื่อระบุตัวตนของน้องหมา และสถานะการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทั้งน้องหมา และมนุษย์จากโรคพิษสุนัขบ้าได้

แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงเรื่อย ๆ แต่ถ้ามองถึงบริบทสังคมบ้านเราที่มีน้องหมาจรจำนวนมาก การนำแอปพลิเคชันนี้มาปรับใช้ในการติดตามวัคซีนน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หรือช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของน้องหมาแต่ละตัวได้ในเบื้องต้น

ที่มา ScienceDaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส