แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) และ AI เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ในด้านสุขภาพก็เช่นกัน โดยล่าสุดผลงานแมชชีนเลิร์นนิงจากมหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์โตเกียว (Tokyo Medical and Dental University) ประเทศญี่ปุ่นสามารถใช้คาดการณ์ภาวะบกพร่องทางการมองเห็นได้ล่วงหน้าสูงสุด 5 ปี

การพัฒนาแมชชีนเลิร์นนิงชิ้นนี้เริ่มต้นมาจากทีมนักวิจัยที่ต้องการสร้างโมเดลในการคาดการณ์ปัญหาด้านการมองเห็นในคนที่มีปัญหาสายตาสั้นมาก (High Myopia) ซึ่งเป็นสายตาสั้นระดับสูงสุด (มากกว่า 600) ที่สัมพันธ์กับภาวะบกพร่องในการมองเห็น และการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาลอก

เดิมทีทางทีมนักวิจัยเคยสร้างแมชชีนเลิร์นนิงโมเดลก่อนหน้าที่สามารถประเมินการเปลี่ยนแปลงการมองเห็น และภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสายตาสั้น แต่ในการศึกษาครั้งใหม่ทีมนักวิจัยต้องการที่จะคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าให้นานขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวร

โดยการใช้ข้อมูลของผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นระดับรุนแรงจำนวน 967 คนให้แมชชีนเลิร์นนิงได้เรียนรู้ พร้อมกับป้อนตัวแปรหรือปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการมองเห็นเข้าไป อย่างอายุ ค่าสายตา สัดส่วนขององค์ประกอบลูกตา และข้อมูลอื่นที่จำเป็นกว่า 34 ตัวแปรให้แมชชีนได้เรียนรู้

ทีมวิจัยพบว่าโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถคาดการณ์หรือทำนายความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าได้ตั้งแต่ 3 ปี ไปจนถึง 5 ปีเลยทีเดียว ในขั้นต่อไปคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสามารถในการมองเห็นของคนที่มีปัญหาสายตาสั้นรุนแรงต่อไป

ซึ่งการรู้ความเสี่ยงของปัญหาสายที่เกิดขึ้นในอนาคตอาจช่วยให้แพทย์ และผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษากับภาวะแทรกซ้อนด้านการมองเห็นที่เสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะการสูญเสียการมองเห็นส่งผลต่อการช่วยเหลือตนเอง การใช้ชีวิต และการทำงาน โดยผู้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่เปราะบาง และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิต เมื่อเกิดปัญหาด้านการมองเห็นอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะทางอารมณ์ และปัญหาด้านอื่นตามมา

ที่มา 1, 2

ภาพปก Free PSD 3d rendering of human body icon

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส