ด้วยลักษณะทางชีววิทยาส่งผลให้มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในตอนกลางวันเป็นหลักตลอดมา แต่ช่วงหลังมานี้เราจะเห็นมนุษย์ที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนมากกว่า ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Night owl หรือ นกฮูกกลางคืน คนประเภทนี้มักมีสมาธิ สมองแล่น และตื่นตัวในเวลากลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน ซึ่งยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด
แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายของบรรดานกฮูกในร่างมนุษย์ยังคงตอบสนองการใช้ชีวิตในตอนกลางวันอยู่ การนอนดึก ตื่นสาย หรือนอนน้อยจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แม้จะนอนหลับสนิท และครบตามเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
นกฮูกในร่างมนุษย์ กับผลเสียต่อสุขภาพ
นาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhytm) เป็นหนึ่งในกลไกที่ถูกสร้างมาพร้อมกับร่างกายมนุษย์ เข็มของนาฬิกาในร่างกายนี้จะบอกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามช่วงเวลาในหนึ่งวัน เช่น ช่วยให้คุณตื่นในตอนเช้า ผ่อนคลายในช่วงค่ำ และง่วงในตอนดึกด้วยการหลั่งสารสื่อประสาทหรือสารเคมีต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายตามแต่ในช่วงเวลา
การนอนดึก หรือใช้ชีวิตตอนกลางคืนจึงอาจคัดง้างเข็มของนาฬิกาชีวภาพ และส่งผลให้ฟันเฟืองในร่างกายติดขัด และเกิดปัญหาตามมา
การศึกษาจำนวนมากพบข้อเสียของการนอนดึก และนอนผิดเวลาแม้ว่าจะนอนครบตามชั่วโมง และนอนหลับสนิทก็ตาม หนึ่งในปัญหาสุขภาพของการนอนดึก และการใช้ชีวิตตอนกลางคืนที่ส่งผลเสียในระยะยาว คือ การเผาผลาญที่ทำงานน้อยลง
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส สหรัฐอเมริกาได้เปรียบเทียบการเผาผลาญระหว่างคนที่นอนดึก และนอนเร็ว ในคนที่เข้าร่วมการศึกษานี้ทั้งหมดต้องออกกำลังกายรูปแบบเดียวกัน และคุมอาหารเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว คือ เวลานอน
จากการเฝ้าสังเกต และสแกนมวลร่างกาย ทีมนักวิจัยพบว่าแม้คนเหล่านี้จะออกกำลังกายเหมือนกัน และรับประทานอาหารเหมือนกัน แต่กลุ่มคนที่นอนเร็วกลับมีระบบการเผาผลาญที่ดีกว่า ร่างกายดึงไขมันมาเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานเพื่อนำมาใช้ได้มากกว่า ตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดพลังงานได้ดีกว่ากลุ่มคนนอนดึก ในขณะที่กลุ่มคนนอนดึกใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต และดื้อต่ออินซูลินมากกว่า
ภาวะระบบเผาผลาญที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนนอนดึกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และโรคอ้วน จากการสะสมไขมันส่วนเกินภายในร่างกาย เพราะร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไขมันให้มาเป็นพลังงานได้ นอกจากนี้ การนอนดึกยังส่งผลให้ฮอร์โมนความหิว และความอิ่มเสียสมดุล เสี่ยงต่อการรับประทานอาหารมากกว่าปกติ และอยากอาหารบ่อย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน ซึ่งร่างกายจะต้องการอินซูลินจากตับอ่อนมากขึ้น และเมื่ออินซูลินจากตับอ่อนไม่เพียงพอ เลยต้องอาศัยอินซูลินสังเคราะห์ในรูปแบบของยาที่ใช้คุมอาการโรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดที่ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนัก หรืออาจเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้ การศึกษาจำนวนมากพบข้อเสียของการนอนดึกในหลายมิติ เช่น การเสื่อมของสมอง ภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ อาการนอนไม่หลับ ความกระตือรือร้นในการออกกำลังกายลดลง ปัญหาด้านการตัดสินใจ และปัญหาอื่นทั้งในด้านสุขภาพ และการใช้ชีวิต
ดังนั้น การนอนดึก และการใช้ชีวิตในตอนกลางคืนอาจไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพเท่าไหร่ แม้ว่าคุณจะรู้สึกโอเคกับการใช้ชีวิตในช่วงที่คนอื่นหลับใหลก็ตาม การปรับวิธีการใช้ชีวิตให้ตรงกับนาฬิกาภายในร่างกายจึงอาจเป็นเรื่องที่เหล่าบรรดานกฮูกควรใส่ใจมากขึ้น แม้จะฝืนธรรมชาติการในการใช้ชีวิตแบบเดิมก็ตาม นอกจากคนที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนแล้ว กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ ในช่วงเวลากลางคืนก็มีความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส