โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยมากชนิดหนึ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์สมองเสื่อม และฝ่อลงส่งผลให้เกิดอาการหลงลืม คิดช้า พูดช้า เกิดปัญหาด้านอารมณ์ และส่งผลต่อการใช้ชีวิต แพทย์รู้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันสาเหตุของโรคนี้ โดยล่าสุดข้อมูลพบว่าแบคทีเรียที่พบในลำไส้มนุษย์สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์
เชื้อชนิดนี้ชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือเอชไพโลไร คุณอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ แต่แบคทีเรียชนิดนี้พบได้ทั่วไป ‘ในลำไส้ของมนุษย์!’ ในช่วงที่เชื้อโรคในลำไส้สมดุล เชื้อชนิดนี้อาจไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แต่เมื่อลำไส้เสียสมดุล อาจเกิดการติดเชื้อชนิดนี้ และทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะ และยังสัมพันธ์กับโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ซึ่งการศึกษาชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของสมาคมอัลไซเมอร์ เขาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการที่เกิดจากเอชไพโลไร กับความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของชาวสหราชอาณาจักรกว่า 4 ล้านคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ตั้งแต่ช่วง 1988 ถึง 2019
จากการวิเคราะห์ข้อมูล พวกเขาพบว่าคนที่มีอาการในระบบทางเดินอาหารจากการติดเชื้อชนิดนี้มีความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นราว 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอื่น อย่างมีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน สูบบุหรี่ หรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคอัลไซเมอร์ก็อาจเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นไปอีก
แต่ทีมนักวิจัยยังไม่ทราบกลไกแน่ชัดว่าทำไมคนที่ติดเชื้อชนิดนี้ถึงเกิดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ตามมาด้วย ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ในเบื้องต้น ถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไพโลไร และโรคอัลไซเมอร์ แนะนำว่าให้ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และหาอาหารที่มีโพรไบโอติกส์มารับประทานเป็นประจำ หรือจะดูแลสุขภาพในด้านอื่นด้วยก็ได้
ที่มา: SciTechDaily
ภาพปก Still life with human brain
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส