โรคซึมเศร้า และโรคทางจิตใจหลายโรคสามารถเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้ แม้ว่าทุกวันนี้คนรู้จักกับอาการของโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่ยังไม่เข้าใจถึงกลไกเบื้องลึกของโรคนี้ ที่เหมือนกับการไหลไปในแม่น้ำแห่งความคิด ที่มีแต่ความโศกเศร้า ว่างเปล่า ความรู้สึกผิด ไร้ค่า และไร้ซึ่งความสุข
เรามักจะถกเถียง และสงสัยว่าจะทำอย่างไรดีเมื่อพบเจอคนที่จะฆ่าตัวตาย หรือมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะด้วยจากโรคทางจิตใจ หรือสาเหตุอะไรก็ตาม ซึ่งผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้แนะนำชุดคำถามแบบขั้นบันไดเพื่อใช้ถามคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย หรือมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย
โดยก่อนจะเข้าสู่คำถาม เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องเริ่มจากการมีสติ ไม่ตัดสิน ไม่คิดเอง และรับฟังคำพูดของคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย อย่างตั้งใจ และจริงใจ จากนั้นให้ใช้คำถามต่อไปนี้ในการถามเขาคนนั้น
- เมื่อพบว่าใครมีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามว่า“ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิตหรือไม่”
- ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “ความรู้สึกเบื่อชีวิตนั้น ทำให้คิดอยากตายหรือไม่”
- ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เมื่อคิดอยากตาย เคยคิดจะทำหรือไม่”
- ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”
- ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”
- ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”
- สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ หรือหยุดความคิดนี้ได้ จนทำให้ไม่ได้ทำ”
โดยคุณไม่ต้องถามห้วน ๆ ตามแบบนี้เป๊ะ แต่ปรับให้เป็นคำพูดของคุณ และใช้น้ำเสียงที่แสดงถึงความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจในระดับที่เหมาะสม
คำถาม 7 สเต็ปจะช่วยให้คนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตายได้ค่อย ๆ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เข้าใจความคิด ความรู้สึกของตนเอง และดึงความสนใจจากห้วงอารมณ์ ณ ขณะนั้นได้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการพยายามฆ่าตัวตาย
การพูดคุยโดยไม่ตัดสิน และรับฟังอย่างจริงใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้า และโรคทางอารมณ์อื่น ๆ สามารถก้าวต่อไป และตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ การเข้ารับการตรวจ และรักษาจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม และต่อเนื่อง
ปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้าเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ดังนั้น จึงมีผู้คนอีกมากที่กำลังเผชิญกับความโศกเศร้า และว่างเปล่าอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งถ้าคุณเห็นว่าคนใกล้ตัวมีอาการของโรคซึมเศร้า พูดจาตัดพ้อ หมดแพสชัน ปลีกตัว ไม่ร่าเริง หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การพูดคุย ถามไถ่ หรือแม้แต่การแนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือไปพบแพทย์เป็นเพื่อนอาจช่วยยับยั้งการฆ่าตัวตายในอนาคตได้
ที่มา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
***