29 มีนาคม 2567, โรงพยาบาลกรุงเทพ – บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม BDMS แถลงข่าวการลงทุนใน CARIVA (แคริว่า) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของไทย ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางการแพทย์ Medical Large Language Models (Medical LLMs) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ AI เป็นรายแรกในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยในการสัมภาษณ์ประกอบด้วย ดร. พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน ของ BDMS คุณศิวดล มาตยากูร และคุณณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับดร. สริตา บุณย์ศุภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮลท์ พลาซ่า จำกัด ในเครือ BDMS ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน BeDee และได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BDMS เข้าร่วมรับฟัง
ในช่วงแรก ดร.พัชรินทร์ได้เล่าถึงการร่วมมือ และลงทุนในเทคสตาร์ตอัปสัญชาติไทยหลายรายที่ได้เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ อย่าง Perceptra ปัญญาประดิษฐ์ช่วยรังสีแพทย์วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ปอดเพื่อหาโรคกว่า 13 ชนิดที่มีการนำไปใช้ในหลายโรงพยาบาล ทั้งภายนอก และภายในเครือ BDMS
นวัตกรรมการส่งยารูปแบบใหม่ผ่านเข็มสลายได้ Mineed ที่กำลังอยู่ในกระบวนการขอใบอนุญาตทั้งในไทย และสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็น OOCA (อูก้า) แอปพลิเคชันปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาทางไกล (Mental health teleconsultation) ที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการมากที่สุดในไทย ตอบโจทย์สังคมปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสนใจกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดยทาง BDMS ได้ลงทุนในเทคสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพอย่าง 500 ล้านบาทในแต่ละปี และยังคงเฟ้นหา และเปิดรับเทคสตาร์ตอัปสัญญาณชาติไทยอย่างเต็มที่
ดร.พัชรินทร์ได้ให้ข้อมูลว่าทาง BDMS ได้ร่วมงานกับทางแคริว่ามาราว 2 ปีเพื่อดูศักยภาพ และความเข้ากันได้ของรูปแบบการทำงาน ไปจนถึงจุดหมายร่วมที่สอดคล้องกับความต้องการของ BDMS ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการคัดกรองและวินิจฉัยโรค การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มความแม่นยำ เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ เทคโนโลยีเพื่อการติดตามผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเทคโนโลยีเพื่อการบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ดร.พัชรินทร์ได้เปิดเผยถึงความโดดเด่นของทางแคริว่า ว่ามีความมุ่งมั่นในการทำความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รวมถึงวิธีคิดให้เข้ากับความต้องการของโรงพยาบาล และขั้นตอนการบริการทางแพทย์ที่มีเกณฑ์และข้อกฎหมายกำหนด โดยการเข้ามามีส่วนร่วม และเฝ้าสังเกตการทำงานของบุคลากรทางแพทย์
โดยทางแคริว่าได้เล่าถึงการปรับตัวในการร่วมงานกับ BDMS ว่าทางแคริว่าได้เฟ้นหาแพทย์เข้ามาในทีมพัฒนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีคิดของแพทย์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ในทีมพัฒนา AI ยังมีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม และการสร้าง AI ซึ่งหาได้ยากมากทั้งในไทย และในต่างประเทศ โดยทีมพัฒนากว่า 1 ใน 4 นั้นเป็นแพทย์
ดร.พัชรินทร์ได้กล่างต่อไปว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากเลย คือ ความเข้าใจในข้อมูล เพราะเครือ BDMS ได้เปิด Sandbox เพื่อให้เทคสตาร์ตอัปได้เข้ามาโชว์ฝีมือ โดยมีข้อมูลของผู้เข้ารับบริการเป็นส่วนสำคัญในเทรน AI ให้ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งทางแคริว่ามีความชัดเจน และคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลผู้เข้ารับบริการเป็นสำคัญ
BDMS x Cariva สู่ Medical & Health AI ของทุกคน
ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ถูกนำไปใช้ในทุกวงการ สำหรับวงการ Health Care ในประเทศไทยก็มีการตื่นตัวมากขึ้น จากการให้สัมภาษณ์ของคุณณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ได้รับโจทย์จาก BDMS ในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของวงการการแพทย์ในไทย โดยประเทศไทยมีสัดส่วนของแพทย์เพียง 10 คนต่อผู้ป่วย 10,000 คน นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจึงต้องมีศักยภาพในการช่วยลดภาระแพทย์ในทุกด้านเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน BDMS ก็มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive care) เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีตั้งแต่ก่อนป่วย ผลลัพธ์จากการพัฒนาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี และทดสอบการใช้งานกว่า 1 ปี (ตั้งแต่เมษายน 2023) ออกมาเป็น AI ที่หลายตัวที่ตอบโจทย์ในทุกมิติที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ ตั้งแต่แพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่ยังไม่ป่วย ไปจนถึงแพลตฟอร์มสุขภาพต่าง ๆ
aily – ดิจิทัลเฮลธ์แพลตฟอร์ม
aily เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ผู้ใช้งานสามารถเช็กอาการเจ็บป่วยผ่านแชตบอตเพื่อวิเคราะห์โรคเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำ และระดับความฉุกเฉินในการพบแพทย์เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้ถึงความเร็งด่วนของปัญหาสุขภาพ ป้องกันการตีความ หรือเข้าใจผิดจากการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
aily ยังสามารถรวบรวมผลตรวจสุขภาพ อาการเจ็บป่วย ข้อมูลจากสมาร์ตดีไวซ์เพื่อประมวลผล และแนะนำการดูแลสุขภาพแบบ Personalized ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
Preceptor AI
คุณณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแคริว่าได้แนะนำ Preceptor AI ว่าเป็น AI Co-pilot ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งเบางานของแพทย์ในหลายมิติ ตั้งแต่ AI แชตบอตที่ช่วยให้แพทย์อัปเดตเกณฑ์การรักษาใหม่ ๆ ที่มาจากตีพิมพ์งานวิจัยต่าง ๆ การใช้ AI ช่วยวิเคราะห์อาการของโรค 360 องศา
โดยใช้ข้อมูลสุขภาพทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาการที่พบ ภาพถ่ายรังสี ผลตรวจสุขภาพในการวิเคราะห์ ซึ่งมีความแม่นยำถึง 92 ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ Preceptor AI ยังสามารถช่วยวิเคราะห์ผลแล็บ (Lab interpretation) และผลการตรวจพันธุกรรมเพื่อให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ Preceptor AI สามารถถอดเสียงของแพทย์ออกมาเป็นข้อความได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพูดภาษาไทยสลับภาษาอังกฤษ หรือการใช้ศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ไปจนถึงการตัดคำที่ไม่จำเป็นออกให้ด้วย
โดยตั้งแต่เมษายน 2023 ได้มีแพทย์เริ่มใช้ Preceptor AI กว่า 10,000 คน และใช้ในการตรวจผู้เข้ารับบริการกว่า 300,000 เคส อย่างไรก็ตาม ทุกการประมวลผลจาก AI ยังคงมีแพทย์เป็นผู้ประเมินความถูกต้องอยู่เสมอเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยสูงสุด ซึ่ง Preceptor AI ได้เข้ามามีส่วนในการลดความซับซ้อน และขั้นตอนบางอย่างในการตรวจ ช่วยให้ผู้รับบริการใช้เวลาน้อยลง แพทย์ให้บริการได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.สริตา บุณย์ศุภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮลท์ พลาซ่า จำกัด ในเครือ BDMS ได้กล่าวเสริมว่า BeDee แอปพลิเคชันที่จำลอง Ecosystem ของโรงพยาบาล ตั้งแต่การปรึกษาแพทย์ทางไกล การส่งยาและเวชภัณฑ์ (Tele-pharmacy) และการให้ข้อมูลสุขภาพ เป็นหนึ่งในช่องทางที่ได้นำ AI จากทางแคริว่ามาใช้ อย่าง Symptom Checker ที่ใช้วิเคราะห์อาการเจ็บป่วย ไปจนถึงระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงของโรคจากข้อมูลสุขภาพ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี และตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และเข้ารับการดูแลจากแพทย์อย่างทันท่วงที
ทางทีมแคริว่าได้เผยถึงแผนงานในอนาคตที่น่าสนใจ และมีส่วนช่วยส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านสุขภาพให้ผู้คน และความยั่งยืนทางบริการทางแพทย์ อย่างการใช้ AI ใน Multi-omic intergration ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลสุขภาพทั้งจากการตรวจสุขภาพ และข้อมูลจากการตรวจพันธุกรรมมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยง และวิธีดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเฉพาะบุคคล หรือ Multimodal AI ที่จะคอยรวบรวมข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากตัวผู้ใช้งาน จากแพทย์ หรือจากสมาร์ตดีไวซ์มาวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ
และที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ระบบ AI Twin-base ที่สามารถจำลองข้อมูลร่างกายเพื่อประเมินความเสี่ยงในการรักษา หรือการใช้ยาบางชนิดว่ามีผลข้างเคียงเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการดูแลตนเอง aily จึงเป็นดิจิทัลเฮลธ์แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ ทั้งผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย หรือผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพอย่างตรงจุด
การลงทุนของ BDMS ในการพัฒนานวัตกรรมบริการทางการแพทย์ของคาริว่าในครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะพาวงการ Health Care ของไทยให้ไปข้างหน้าอีกขั้น ตอกย้ำการเป็นผู้นำการบริการสุขภาพ และ Medical tourism destinations ของภูมิภาค