ความหวานเป็นรสชาติที่ใครหลายคนโปรดปราน แต่ความหวานนี้อาจมีโรคซ่อนอยู่
“โรคเบาหวาน” (Diabetics) กลายเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2566 ไทยมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี มียอดผู้ป่วยเบาหวานสะสมถึง 3.3 ล้านคน และในทุก ๆ 5 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1 ราย โดยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการนอน และการไม่ออกกำลังกาย
รู้หรือไม่ ? คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่ มักไม่แสดงอาการ !
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเบาหวานเกิดจากการทํางานของฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพ เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการ มักตรวจพบเมื่อเช็กสุขภาพโดยบังเอิญในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
การปรับพฤติกรรมการกิน โดยเลือกกินอาหารที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และหลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกัน หรือบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้
5 อาหารช่วยลดน้ำตาล
อาหารบางชนิดมีสารอาหารที่มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- ผัก
ผักเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย มีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารมาก ทำให้อิ่มทน และใยอาหารยังช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็ก รวมทั้งลดการดูดซึมกลับของถุงน้ำดี เป็นการช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรกินผักให้มากขึ้นทุกมื้อ จะเป็นผักสด หรือผักต้มก็ได้ - อัลมอนด์
นอกจากจะอร่อยแล้ว อัลมอนด์ยังมีโปรตีน แมกนีเซียม ใยอาหาร ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแนะนำให้กินอัลมอนด์หนึ่งกำมือก็เพียงพอ - ปลาแซลมอน
ปลาแซลมอน มีโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินดี และไนอาซินสูงมาก โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินดีที่จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี - มะระขี้นก
มะระขี้นก มีสารซาแรนติน (Charantin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน นอกจากช่วยลดน้ำตาลในเลือดแล้ว สารซาแรนตินยังช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนให้มากขึ้น เพื่อมาจัดการกับน้ำตาลที่สูงในกระแสเลือดได้อีกด้วย - ข้าวโอ๊ด
ข้าวโอ๊ตมีใยอาหารสูงมาก ช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารและเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลได้อย่างเป็นระเบียบ จึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้
4 อาหาร (น้ำตาลสูง) ที่ควรเลี่ยง
นอกจากอาหารที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดแล้ว การใส่ใจกับอาหารที่มีส่วนเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการจำกัด หรือเลี่ยงก็สำคัญด้วยเหมือนกัน
- อาหารที่ใส่น้ำตาล
โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นมาก เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรต 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และเยลลี่ ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูง แต่มีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อยมาก
- อาหารที่มาจากแป้ง
แป้ง คือ คาร์โบไฮเดรต ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ควรจำกัดปริมาณการกินให้เหมาะสม เช่น ข้าว 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และอีก 2 ส่วนที่เหลือเป็นผัก หรือหากอยากกินแป้งให้เลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต มากกว่าข้าวขาวหรือขนมปังขาว เป็นต้น
- ผลไม้น้ำตาลสูง
ไม่ใช่ผลไม้ทุกชนิดที่ยิ่งกินจะยิ่งดีต่อร่างกาย บางชนิดมีน้ำตาลสูงมาก เช่น มะม่วง ทุเรียน ลำไย ขนุน จึงควรเลือกผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล หรือแก้วมังกร แทนจะดีกว่า
- นม
นมทุกชนิด เช่น นมข้นหวาน นมเปรี้ยว รวมไปถึงโยเกิร์ตปรุงรสผลไม้ แม้กระทั่งนมวัวธรรมดาก็มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรต และสารอาหารอื่น ๆ เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน หรือแร่ธาตุ ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในน้ำนมนั้น จะอยู่ในรูปน้ำตาลแล็กโทสที่มีรสหวานน้อย อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน จึงควรเลือกดื่มนมจากธรรมชาติเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติหรือกลิ่นเพิ่มเท่านั้น
นอกจากการเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์แล้ว กรมควบคุมโรค ยังได้ให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันเบาหวานไว้ดังนี้
- เลือกกินอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3–5 ครั้ง
- ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี
หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย กินจุหิวบ่อย น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
ส่วนใครที่ยังไม่เป็นเบาหวาน ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า… สิ่งที่สำคัญกว่าการกินอะไรเพื่อการรักษา คือการกินอย่างไรให้ลดความเสี่ยงนะครับ