“มีใครทำ CPR เป็นบ้างคะ / ครับ ?”
“ช่วยด้วย ๆ มีคนหมดสติ ช่วยโทรเรียก 1669 และนำเครื่อง AED มาด้วย”
คุณอาจต้องพบเจอหรือต้องใช้ประโยคร้องขอความช่วยเหลือเหล่านี้ ในกรณีที่มีบุคคลกำลังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคุณมีเวลาเพียง 4 นาทีในการกู้ชีวิต
“สถานการณ์ฉุกเฉิน” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่คาดคิด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะเป็น คนจมน้ำ คนถูกไฟฟ้าดูด ฟ้าผ่า คนที่มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ สำลักควันไฟ ผู้ป่วยหัวใจวาย ไปจนถึงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
AED กู้ชีพฉุกเฉิน
“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” หรือ SCA (Sudden Cardiac Arrest) คร่าชีวิตผู้คนในประเทศไทยโดยเฉลี่ยกว่า 50,000 รายต่อปี จากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วย SCA ที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการช็อกกระตุ้นการเต้นของหัวใจจากผู้เห็นเหตุการณ์
อัตราการรอดชีวิตของผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้น จะเพิ่มขึ้นมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ที่เห็นเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือทันที ด้วยการช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอก หรือ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) พร้อมด้วย “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” หรือ AED (Automated External Defibrillator) แต่หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ในทุก ๆ นาทีที่ผ่านไป ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันถึงความสำคัญของการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบัน เราจะเห็นเครื่อง AED ถูกติดตั้งอยู่ตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมไปถึง อาคารสูง และสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) ของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ภายในตัวอาคารที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย SCA และบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือนาทีวิกฤต ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือรถพยาบาลจะมาถึง
โดยเครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่สามารถ “อ่าน” และ “วิเคราะห์” คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งโอกาสที่จะรอดชีวิตของบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด และควรตระหนักว่าเวลาทุก ๆ นาทีที่ผ่านไปนั้น มีค่าอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย
กู้ชีพด้วยการกู้หัวใจ โดยใช้ AED ร่วมกับ CPR
“เมื่อใดก็ตามที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ หากมีใครสักคนรีบเข้าไปช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตามหลักการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอด และมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองเพียงพอ ที่สมองจะทำงานต่อไปได้โดยไม่ทำให้เกิดภาวะสมองตาย คนผู้นั้นก็ยังมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมามีชีวิตเป็นปกติได้”
เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้แนะนำขั้นตอนการแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 การช่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน รวมถึง การใช้เครื่อง AED ระหว่างที่ทีมกู้ชีพ หรือรถพยาบาลยังเดินทางไปไม่ถึง โดยมีขั้นตอนและวิธีดังนี้
- เมื่อพบคนหมดสติ ควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือเสมอ
- ปลุกเรียกด้วยเสียงดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
- เรียกขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาเตรียมไว้ (กรณีที่มีเครื่อง)
- ประเมินผู้หมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้กดหน้าอกทันที
- เริ่มทำการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ด้วยวิธีการดังนี้
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย โดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย
- วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก
- วางมืออีกข้างหนึ่งทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
- เริ่มกดหน้าอก CPR ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
- ถ้ามีหน้ากากเป่าปาก ให้เป่า 2 ครั้ง สลับกับการกดหน้าอก 30 ครั้ง
- ถ้าไม่มีหน้ากากเป่าปาก หรือ ไม่เคยฝึกเป่าปาก ให้ทำการกดหน้าอกอย่างเดียว ต่อเนื่องกัน
- กดหน้าอกและเป่าปากอย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
ส่วนขั้นตอนในการช่วยชีวิตเมื่อมีเครื่อง AED มีดังนี้
- เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้หมดสติออก (หากจำเป็นต้องตัดเสื้อผ้า ก็สามารถใช้กรรไกรที่อยู่ในกล่องชุดเครื่อง AED ได้)
- ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย (ดูคำแนะนำจากเครื่อง AED ประกอบ)
- เครื่องจะวิเคราะห์จังหวะการเต้นของใจ โดยห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED
- กดหน้าอกต่อทันที หลังทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED
- ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรโทรแจ้ง 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงรีบให้การช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขความผิดปกติของทางเดินหายใจและการหายใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้นก่อนถึงมือแพทย์นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังสามารถค้นหาจุดติดตั้งเครื่อง AED ในประเทศไทย และอาสาสมัครผู้ทำ CPR ในระยะใกล้ ๆ คุณ พร้อมทั้งการสอนวิธีการใช้งานเครื่อง AED และวิธีการทำ CPR ได้จากเว็บไซต์ https://aed.redcross.or.th/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “AED กระตุกหัวใจ” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS
หากเป็นไปได้ควรเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “การปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน” เพราะเราอาจต้องพบเจอผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่คาดคิด และคน ๆ คนนั้น อาจเป็นคนใกล้ตัวของคุณเอง… ฝึกทำ CPR และหัดใช้เครื่อง AED กันเถอะครับ