“ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง” องค์การอนามัยโลก, 2542

“ความดันโลหิตสูง” (Hypertension) จัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) 1 ใน 5 ฆาตรกรเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด โดยปัจจุบันพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แม้ไม่มีอาการแสดงชัดเจนแต่หากปล่อยไว้นาน ๆ ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้

ข้อมูลทางการแพทย์จากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยได้ระบุว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายร้อยละ 60-70 เสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกร้อยละ 20-30 และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรังร้อยละ 5-10

คุณเป็นความดันโลหิตสูงหรือเปล่า ?

คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะไม่แสดงอาการ แต่บางรายก็อาจมีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่มีการควบคุมหรือทำการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจทำให้อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะไปทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะทำงานผิดปกติ หากถูกทำลายอย่างรุนแรงอาจทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

ในขณะเดียวกัน หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี

เช็กค่าความดันโลหิตของคุณ

  • ความดันโลหิตที่ดี คือ ต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตปกติ คือ ระหว่าง 120-129/80-84 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตค่อนข้างสูง คือ ระหว่าง 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1) คือ ระหว่าง 140-159/90-99 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2) คือ ระหว่าง 160-179/100-109 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) คือ ตั้งแต่ 80/110 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไป

การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะพัก และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ

แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูง

เมื่อสงสัย หรือพบว่าตนเป็นความดันโลหิตสูงควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และปฏิบัติตนตาม 5 แนวทางดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน

ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 ซึ่งมีวิธีคำนวณ BMI = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง

หรือรักษาระดับรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ชายรอบเอวควรน้อยกว่า 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ส่วนของผู้หญิงควรน้อยกว่า 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) หรือใช้สูตรคำนวณอย่างง่ายคือ ส่วนสูง (เซนติเมตร) หารสอง นั่นเอง

ในกรณีที่น้ำหนักตัวเกิน การลดน้ำหนักลงร้อยละ 5 ขึ้นไปของน้ำหนักตัวเดิม จะส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ เทียบเท่ากับยาลดความดันโลหิต 1 ชนิดเลยทีเดียว

  1. ควบคุมอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ลดอาหารมันทุกชนิด ซึ่งการควบคุมพลังงานและกำหนดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ โดยใช้หลักการ “จานอาหารสุขภาพ” หรือ “ทฤษฎี 2-1-1” คือ “ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : เนื้อสัตว์ 1 ส่วน”

การกินผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายของเราได้รับโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และใยอาหาร ที่ช่วยลดความดันโลหิตได้

ข้อปฏิบัติที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ คือ ควรจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับเกลือแกง 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4 ช้อนชา) โดยพยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม และการปรุงรสต่าง ๆ

  1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หากเลี่ยงไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 1 แก้ว

  1. งดสูบบุหรี่

แม้การเลิกบุหรี่อาจไม่มีผลต่อการลดความดันโลหิตโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ดี โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยไม่จำเป็นต้องวิ่ง ใช้วิธีว่ายน้ำหรือเดินก็เพียงพอแล้ว

แต่หากมีอาการผิดปกติในระหว่างการออกกำลังกาย เช่น เหนื่อยมากผิดปกติ เวียนหัว ตามัว คลื่นไส้ พูดไม่ชัด ตัวเย็นผิดปกติ แขนขาอ่อนแรง ให้หยุดและไปพบแพทย์ทันที

สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตเกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ควรกินยาควบคุมความดันฯ ก่อนออกกำลังกาย และไม่ควรออกกำลังกาย หากมีความดันโลหิตขณะพักเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท และแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เช่นกัน

5 แนวทางข้างต้น จะบังเกิดผลเมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตให้ได้ในระยะยาวถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และยังเป็นการรักษาพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตทุกราย ไม่ว่าจะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาความดันโลหิตร่วมด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือ ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และพบแพทย์ตามนัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

“Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer” ควบคุมความดันโลหิต ช่วยยืดชีวิตให้ยืนยาว