“สถานการณ์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยวัยรุ่นร้อยละ 17.6 เคยมีความคิดทำร้ายตัวเอง และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 3.6 แสนคน เสี่ยงซึมเศร้าถึงร้อยละ 10.86”

ข้อมูลกรมสุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ โดยวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ร้อยละ 17.6 เคยมีความคิดทำร้ายตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน ปัญหาความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง หรือการถูกทารุณกรรม ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น

จากการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 – 27 ก.พ. 67 ยังพบว่า เด็กและวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าถึง 39,105 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.86 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 65,951 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.12 

พฤติกรรมการทำร้ายตนเองของวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นปัญหาที่ควรได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะความเข้าใจจากคนในครอบครัว

เข้าใจพฤติกรรมทำร้ายตนเองในวัยรุ่น

ผู้ปกครองหลายคนมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำร้ายตนเองของลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อที่ว่าคนที่ทำร้ายตนเองนั้น ทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเขาเหล่านั้นเป็นคนบ้าหรือวิกลจริต รวมไปถึงคิดว่าเขาทำร้ายตัวเองเพราะอยากฆ่าตัวตายจริง ๆ

จริง ๆ แล้ว “พฤติกรรมทำร้ายตนเอง” เป็นวิธีจัดการกับปัญหาที่วัยรุ่นบางคนเลือกใช้ ซึ่งการทำร้ายตัวเองส่วนใหญ่ทำไปเพื่อระบายหรือหาทางออกให้กับความรู้สึกที่เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานมาก ๆ โดยวิธีทำร้ายตนเองของวัยรุ่นที่พบบ่อย ได้แก่

  • การกรีดหรือข่วนผิวหนัง
  • การเผาหรือลวกด้วยน้ำร้อน
  • การตีหรือทุบศีรษะ
  • การชกหรือชนกับกำแพงหรือวัตถุแข็ง
  • การดื่มหรือกินสารพิษ

สังเกตสัญญาณทำร้ายตนเอง

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้แนะแนวทางการสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นไว้ดังนี้

  • ความผิดปกติด้านการกิน/การนอน : มีพฤติกรรมการกินและนอนที่มากขึ้นหรือน้อยลงจนผิดปกติไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
  • หงุดหงิดง่ายหรือซึมเศร้า : มีการแสดงอารมณ์ที่แปรปรวนหรือรุนแรง ผิดปกติไปจากเดิม
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม : โดยความผิดปกติทางพฤติกรรมนั้น สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ
  • เก็บตัว หลีกหนีสังคม : เป็นสัญญาณสำคัญที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรรีบให้ความช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่รุนแรงได้

5 สัญญาณเตือนว่าลูกหลานหรือคนในครอบครัวมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง 

  1. มีแผล หรือแผลเป็นจากการกรีด มีรอยช้ำ หรือแผลจากการถูกเผา โดยเฉพาะที่ข้อมือและแขน
  2. มีรอยเปื้อนเลือดบนเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ทิชชู หรือบนเตียงนอน
  3. พบวัตถุแหลมคม เช่น ใบมีด มีด เข็ม เศษแก้ว รวมอยู่ในของใช้ส่วนตัว
  4. มักปกปิดผิวหนัง เช่น ใส่เสื้อแขนยาว หรือกางเกงขายาว แม้ในขณะที่มีอากาศร้อน
  5. แยกตัวอยู่คนเดียวนาน ๆ หรือหงุดหงิดง่าย

ปัญหาสุขภาพจิตนั้น เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก โดยหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ทันสังเกตให้ดี ว่าเขากำลังประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่มากกว่าแค่อาการดื้อหรืออารมณ์ขึ้นลงตามปกติ ก็อาจจะนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงได้

ป้องกันปัญหาทำร้ายตนเอง

4 แนวทางในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมการทำร้ายตนเองในเด็กและวัยรุ่น ที่แนะนำโดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

  1. สร้างความเชื่อใจ : เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกหลานกล้าพูดคุย หรือบอกสิ่งต่าง ๆ อย่างเปิดเผย รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย
  2. ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก : ไม่เปรียบเทียบลูกหลานกับคนอื่น รู้จักชื่นชมเมื่อเขาทำได้ดีแม้ในเรื่องเล็กน้อย และการแสดงความรักต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
  3. สอนให้รู้จักรับมือกับความเครียด : ให้เด็กได้รู้จักอารมณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการแสดงออกและการจัดการอารมณ์ของตนเอง
  4. ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ภายในครอบครัว : เพราะความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นจากการมีเวลาให้กันเสมอ

ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจภายในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงวัยรุ่นทำร้ายตัวเอง พ่อแม่และผู้ปกครองจึงควรให้ความใส่ใจ หมั่นสังเกต คอยพูดคุยสอบถาม และสอดส่องพฤติกรรมโดยเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เปิดใจรับฟังในทุกปัญหาและทุกเรื่องราวโดยไม่ต่อว่าหรือดุด่า เมื่อวัยรุ่นรู้สึกว่าเขามีครอบครัวเป็นที่พึ่ง โอกาสที่เขาจะทำร้ายตัวเองย่อมลดน้อยลง