หลายคนน่าจะเคยคุยกับเสียงของตัวเองในหัว (Inner Voice) หรือแม้แต่พูดกับตัวเองเวลาที่อยู่คนเดียว หรือเผลอพูดกับตัวเองเวลาอยู่กับคนอื่นก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ๆ แต่ที่หลายคนไม่รู้เลยคือ บางคนไม่มีเสียงในหัว ไม่สามารถจินตนาการถึงเสียงของคำเหล่านั้นได้ หรือได้ยินเสียงในลักษณะนี้น้อยมาก ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสาร และความจำเกี่ยวกับคำพูดนั้นแย่กว่าคนทั่วไป
เคยมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กที่พบว่ามีคนราว 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีเสียงหรือคำพูดในหัว โดยพวกเขาต้องใช้เวลาในการคิดเป็นภาพ แล้วแปลภาพเป็นคำที่ไม่มีเสียง ก่อนจะพูดออกมาอีกที ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการคิด และสื่อสารออกมาได้ช้า โดยภาวะที่มนุษย์ไม่มีเสียงในหัวเรียกว่า Anendophasia
การศึกษาอีกชิ้นจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน โดยโจแอน นีเดอร์การ์ด (Johanne Nedergård) และแกรี ลูเปียน (Gary Lupyan) ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะไม่มีเสียงในหัว ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่รายงานว่ามีเสียงในหัวตั้งแต่เคยได้ยินเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงคนที่มีเสียงในหัวที่ชัดเจนมาก ๆ
การทดสอบแรกให้คนเหล่านี้จดจำคำที่ออกเสียงคล้ายกัน เช่น bought, caught, tuant, และ wart ถ้าในเวอร์ชันภาษาไทยให้ลองจินตนาการออกมา เธอ, เผลอ, เบลอ, เก้อ โดยตั้งสมมติฐานว่าคนที่ไม่มีเสียงในหัว หรือเคยได้ยินเพียงเล็กน้อยจะจดจำคำเหล่านี้ได้น้อยกว่า และคาดว่าคนกลุ่มนี้ต้องท่องคำเหล่านี้ซ้ำ ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองลืม
โดยผลลัพธ์ของการทดสอบนี้ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ เพราะคนกลุ่มที่ไม่มีเสียงในหัวนั้นได้ผลลัพธ์ในการทดสอบต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ หรือแตกต่างอย่างชัดเจนในเชิงงานวิจัย
อีกการทดสอบหนึ่ง เขาให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ภาพที่มีเสียงคล้องจองกัน อย่าง sock และ clock ซึ่งคนกลุ่มที่ไม่ได้ยินเสียงในหัวต้องทวนคำศัพท์ก่อนเพื่อที่จะเปรียบเทียบเสียงที่คล้องจองกัน
นอกจากนี้ เขายังได้ทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติมด้วยการสลับคำที่มีเสียง และคำที่คล้ายกันอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับการทดสอบก่อนหน้า ซึ่งโจแอน นีเดอร์การ์ด และแกรี ลูเปียน คาดว่าคนที่ไม่มีเสียงในหัวอาจใช้กลไกอื่นในการเรียนรู้ และจดจำคำเหล่านี้
ทีมนักวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการไม่มีเสียงในหัวส่งผลต่อการใช้ชีวิต และพฤติกรรมได้จริงไหม เพราะเป็นการศึกษาในช่วงแรกเท่านั้น โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของเสียงในหัวต่อความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์อาจมีส่วนสำคัญต่อการเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและความคิดในคนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและความคิด
ผลลัพธ์ของการศึกษานี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ทำให้เราเปลี่ยนความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่อาจคิดว่าทุกคนมีเสียงในหัว หรือเสียงของความคิด ซึ่งทำให้เราเข้าใจพฤติกรรม และปรากฏการณ์บางอย่างของมนุษย์มากยิ่งขึ้น