เคยไหม ? ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกเจ็บคอ แสบคอ กลืนลำบาก แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางครั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นไข้ ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่า “คุณอาจกำลังไม่สบาย” 

บทความนี้ จะพาคุณไปไขความลับของ “อาการตื่นมาแล้วเจ็บคอ” ว่าเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ และมีวิธีป้องกันหรือรักษาอย่างไร

8 สาเหตุของอาการตื่นมาแล้วเจ็บคอ

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตื่นมาแล้วเจ็บคอ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  1. การติดเชื้อ: เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการเจ็บคอ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โดยหากเกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการไอ มีน้ำมูก คอแดง เสียงเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) ทำให้คออักเสบ และอาการรุนแรงกว่าติดเชื้อไวรัส 
  2. การระคายเคือง: สิ่งแวดล้อมที่แห้ง ฝุ่นควัน ควันบุหรี่ สารเคมี ล้วนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อลำคอ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอได้เช่นกัน
  3. โรคภูมิแพ้: ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ เห็บหมัด อาหารบางชนิด รวมไปถึงอากาศ อาจกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ มีอาการกำเริบ เกิดอาการคัน น้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ 
  4. กรดไหลย้อน: เนื่องจากหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานผิดปกติไป ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาสู่ลำคอ จนเกิดอาการแสบคอ เรอเปรี้ยว และเจ็บคอ
  5. นอนหลับไม่เพียงพอ: การนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสป่วยเป็นหวัดหรือติดเชื้อได้ง่าย เกิดการระคายเคืองหรือเจ็บคอได้
  6. ภาวะขาดน้ำ / ดื่มน้ำไม่เพียงพอ: ผู้ที่ดื่มน้ำไม่พอ ผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ๆ หรือผู้ที่ทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงให้ปัสสาวะบ่อย อาจเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ ส่งผลต่อเยื่อบุลำคอ ทำให้เกิดอาการคอแห้ง ระคายเคือง และเจ็บคอได้
  7. การนอนกรน / นอนอ้าปาก: อาการเจ็บคอหลังตื่นนอนเป็นสิ่งที่มักจะพบได้บ่อยในคนที่มีปัญหาด้านการนอนกรน เพราะเวลากรน อากาศก็จะเข้าทางปาก ทำให้ภายในปากและลำคอแห้ง ไม่ชุ่มชื้น ซึ่งการนอนกรนไม่ได้เพียงแค่ส่งผลให้คอแห้ง แต่ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อีกด้วย
  8. ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ: ในบางคน อาการตื่นมาเจ็บคอ อาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ โดยอาการอื่นที่อาจพบได้ เช่น รู้สึกง่วงระหว่างวัน นอนกรน สะดุ้งตื่นจากการสำลักตอนกลางคืน เหงื่อออกตอนกลางคืน และความต้องการทางเพศลดลง

นอกจากปัจจัยทางสุขภาพแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดช่องปาก ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บคอหลังจากตื่นนอนได้เช่นกัน เพราะยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่แรงเกินไปอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากได้ นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดการอักเสบภายในช่องปากลงไปถึงลำคอได้ด้วย

แต่ถ้าหากคุณตื่นมาแล้วรู้สึกเจ็บคอทั้ง ๆ ที่คุณไม่ได้เป็นหวัด ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้  ไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน หรือนอนกรน และลองเปลี่ยนยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากแล้ว สาเหตุการเจ็บคอของคุณอาจมาจากการเปิดแอร์หรือพัดลม ซึ่งวิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือ ปรับแอร์และระดับความแรงของพัดลมไม่ให้แรงหรือเย็นเกินไป ห่มผ้าให้อุ่นตลอดคืน และดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำตอนนอนหลับ

การป้องกันอาการตื่นมาแล้วเจ็บคอ

  • ล้างมือบ่อย ๆ: การล้างมือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย: หลีกเลี่ยงการกอด จูบ หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
  • สวมหน้ากากอนามัย: สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ: ร่างกายที่พักผ่อนเพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ: ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์: ทานอาหารที่มีวิตามินซี และสังกะสีสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

วิธีรับมือกับปัญหาตื่นมาเจ็บคอ

  • อมน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงการหายใจทางปาก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้สารก่อภูมิแพ้
  • ใช้เครื่องทำความชื้นขณะนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ร้อนจัดและอาหารที่มีรสเผ็ด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นกรด อาหารที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีที่ใช้สำหรับดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากเห็นอาการไม่ดีขึ้นใน 1–2 สัปดาห์ ผู้ที่มีปัญหาตื่นมาเจ็บคอควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด

6 ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเจ็บคอ ที่ควรไปพบแพทย์

นพ. วินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ แนะนำว่า แม้อาการเจ็บคอส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 3-5 วัน โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่หากมีการติดเชื้อในลำคออาจนำไปสู่ทอนซิลเป็นหนอง ต่อมน้ำเหลืองโตอักเสบ เส้นเลือดที่คออักเสบ หรือการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ปอด ไต หรือสมองที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
  • มีอาการหนาวสั่น
  • มีฟันกระทบ ฟันกระแทก
  • มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • คอโต คลำแล้วเจอก้อนที่คอ
  • สงสัยว่าติดโควิด-19

“ฟังเสียงร่างกายบอกสัญญาณเตือนภัย และรีบดูแลรักษาก่อนสายเกินไป”